เรียนรู้เรื่อง IQ
ไอคิว (IQ) หรือ Intelligence Quotient คือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการคิด การเชื่อมโยง การใช้เหตุผล การคำนวณ สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนด้วยแบบทดสอบทางสติปัญญา ระดับของไอคิวปกติอยู่ใน ช่วง 90-110 คนที่มีระดับไอคิวสูงจะเป็นคนเก่งมีสมองรับรู้ว่องไว เรียนหนังสือเก่ง พ่อแม่ทุกคนจึงปรารถนาให้ลูกมีไอคิวสูง แม้ศักยภาพทางสมองนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ไม่ง่ายนัก แต่พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาสมองให้ลูกได้
เขาวัดไอคิวกันอย่างไร?
ไอคิวถูกคิดค้นโดย Louis William Stern นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน และต่อมา Lewis Terman นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาแบบทดสอบไอคิว (IQ Test) ขึ้นเพื่อวัดระดับสติปัญญาเป็นครั้งแรก โดยแบ่งระดับจาก A ถึง E แต่ปัจจุบันเรานิยมใช้ระบบแปลผลออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งมีแบบทดสอบไอคิวหลายแบบ ซึ่งการวัดไอคิวต้องทำโดยนักจิตวิทยาคลินิกซึ่งได้รับการฝึกฝนการใช้แบบทดสอบจนชำนาญ ไม่ใช่การทดสอบที่ใครก็สามารถวัดได้ ดังนั้น แบบทดสอบไอคิวที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด หรือแบบทดสอบทางเว็บไซต์จึงเป็นเพียงแบบทดสอบที่ทำเล่นสนุกๆเท่านั้น ทั้งนี้ การคำนวณตัวเลขไอคิวจะใช้สูตร IQ = [อายุสมอง (Mental Age) ÷ อายุจริง (Chronologic Age)] × 100 ซึ่งเป็นการเทียบระดับการเรียนรู้หรือพัฒนาการของสมองว่าอยู่ระดับไหนเมื่อเทียบกับอายุจริง หากวัดไอคิวได้ 100 หมายความว่า อายุสมองเท่ากับอายุจริง เช่น ถ้าอายุ 6 ปี แสดงว่าอายุสมองคือ 6 ปีเช่นกัน แต่ถ้าวัดไอคิวได้ต่ำกว่า 100 แสดงว่าอายุสมองต่ำกว่าอายุจริง หรือถ้าวัดไอคิวได้มากกว่า 100 แสดงว่า อายุสมองมากกว่าอายุจริง และนำคะแนน มาเทียบกับตารางสถิติของประชากรในโลกซึ่งมีระดับไอคิวในแต่ละช่วงเป็นร้อยละ ดังนี้

แสดงเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

ภาพจาก IQ Scores - Average IQ Score http://www.iqtest-center.com/iq-scores.php
จากแผนภูมิจะพบว่า คนส่วนใหญ่ มีระดับไอคิวอยู่ในช่วง 100 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีไอคิวอยู่ในระดับต่ำมาก หรือสูงมาก
ไอคิวสูงหรือต่ำเกิดจากอะไร?
ความฉลาดหรือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากพันธุกรรม ไอคิวของลูกจึงได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น พ่อแม่ที่มีไอคิวสูง ลูกมักมีไอคิวสูงด้วย ส่วนพ่อแม่ที่มีไอคิวไม่สูง ลูกก็จะมีไอคิวไม่สูงเช่นกัน เราจึงไม่พบเด็กอัจฉริยะที่พ่อแม่มีไอคิวไม่สูง หากพบแต่กรณีที่พ่อแม่มีไอคิวสูง แต่ลูกมีไอคิวไม่สูงได้จากบางสาเหตุ เช่น การไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ดังนั้น สิ่งสำคัญกว่าตัวเลขระดับไอคิวคือ การจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของสมองของลูก เพราะหากกระตุ้นน้อย แม้เกิดมามีต้นทุนสมองดี แต่สมองก็ไม่พัฒนาเต็มศักยภาพเมื่อโตขึ้น
ผลการวัดไอคิวบ่งบอกความฉลาดของลูกได้แน่นอนหรือไม่?
ผลการวัดไอคิวบ่งชี้เฉพาะระดับสติปัญญาในบางด้านของเด็กที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้เท่านั้น ยังมีความฉลาดในด้านอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความฉลาดทางอารมณ์ ( EQ) นอกจากนี้ ในการทดสอบ ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นที่มีผลต่อคะแนนไอคิวด้วย เช่น แบบทดสอบที่ใช้เป็นแบบทดสอบมาตรฐานหรือไม่ ใครเป็นผู้ทดสอบ ช่วงเวลาที่ทดสอบ เด็กมีความพร้อมเพียงใด ให้ความร่วมมือหรือไม่ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากระดับอายุของเด็กในขณะทดสอบ มีงานวิจัยพบว่าไอคิวที่วัดเมื่อเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี กับไอคิววัดเมื่ออายุ 17-18 ปี นั้นมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์กันต่ำมาก โดยจะค่อยๆสูงขึ้นเมื่ออายุ 5-7 ปี และมีพัฒนาการของเชาวน์ปัญญาถึงขั้นสูงสุดคือ ระหว่างอายุ 15-25 ปี จากนั้นจะเริ่มเสื่อมลงตามวัย ดังนั้น การวัดไอคิวเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับประถมและมัธยม คะแนนไอคิวจึงจะเชื่อถือได้มากขึ้น
ควรพาลูกไปวัดไอคิวหรือไม่?
หลักสำคัญในการวัดไอคิวคือ เพื่อคัดกรองเด็กที่มีความต้องการพิเศษในด้านการเรียนรู้ออกจากเด็กปกติ ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ และเด็กที่มีอัจฉริยภาพสูง ทั้งนี้เพราะเด็กที่มีไอคิวต่ำจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ ไม่สามารถเรียนหนัง สือได้เหมือนกับเพื่อน เช่น เด็กอายุ 8 ปี แต่ไอคิวเท่ากับเด็กอายุ 6 ปี หากเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เหมือนเพื่อนวัยเดียว กัน จะมีปัญหาได้ ครูอาจจัดให้เรียนคละชั้นกับเด็กอายุ 6 ปี โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีพัฒนาการเหมาะสมกับวัย ซึ่งในขณะเดียวกัน เด็กที่มีอายุสมองมากกว่าอายุจริง เช่น อายุสมองเท่ากับเด็กอายุ 12 ปี หากต้องเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กับเด็กอายุ 8 ปีเท่ากัน จะทำให้เด็กเบื่อ ไม่สนใจเรียน พ่อแม่หรือครูอาจคิดว่า เด็กเกเรไม่ยอมเรียนหนังสือจึงลงโทษ ทำให้เด็กยิ่งเสียโอกาสในการพัฒนาสมองให้เต็มศักยภาพ ดังนั้น หากสังเกตจากพฤติกรรมแล้วพบว่า ลูกปกติดี ก็ไม่มีความจำ เป็นต้องไปวัดไอคิว เพราะเราไม่วัดไอคิวลูกเพียงเพื่อจะบอกว่า ลูกฉลาดหรือไม่ เพราะการวัดไอคิวเด็กโดยไม่มีข้อบ่งชี้ อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ เช่น หากพ่อแม่พาไปทดสอบ แล้วพบว่าไอคิวลูกต่ำ ความรู้สึกของพ่อแม่ที่คาดหวังว่าลูกต้องเฉลียวฉลาด อาจยอมรับไม่ได้ คิดว่าลูกสมองไม่ดี เสียใจ และพยายามแก้ไขทุกวิถีทางจนกลายเป็นความเครียดของครอบ ครัวซึ่งยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก หรือบางครอบครัวอาจปล่อยปละละเลยลูกไปเลย เด็กบางคนที่พบว่าตนมีไอคิวสูง อาจไม่สนใจการเรียน ไม่แสวงหาความรู้ คิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น หรืออาจถูกคาดหวังจากพ่อแม่และครูว่า จะ ต้องเรียนเก่งทุกวิชา จะต้องได้คะแนนเต็มทุกครั้งในการสอบ ซึ่งตามความเป็นจริงในชีวิตของเด็กยังต้องการทักษะและความสามารถในด้านอื่นนอกเหลือไปจากการเรียนเก่ง ความจำดี การคิดเลขได้เร็ว สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อ เสียงได้ เพราะนั่นไม่ได้เป็นหลักประกันถึงชีวิตที่มีความสุขของเด็ก ดังงานวิจัยที่พบว่า ไอคิวมีผลต่อความสามารถในการทำงานได้ดีหรือกับการดำเนินชีวิตเพียงเล็กน้อย และพบว่าปัจจัยที่สร้างความสำเร็จในชีวิตได้ดี เป็นทักษะชีวิตในวัยเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอคิว เช่น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การยอมรับความผิดหวัง และการปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น และมีงานวิจัยที่พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์และสังคม ทำให้คนประสบความสำเร็จในอาชีพและมีชื่อเสียงมากกว่าความ สามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวถึง 4 เท่า
พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกฉลาดได้อย่างไร?
ตามธรรมชาติ อายุของสมองของคนปกติจะเป็นไปตามอายุจริง ถ้าเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้กับลูก ลูกก็จะฉลาดขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากสมองไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างถูกต้อง วงจรการเรียนรู้ในสมองของเด็กก็จะเกิดปัญหา ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกระบวนการจัดการของสังคม ทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ไม่ได้ดี เบื่อเรียน สาเหตุมาจากการที่เราไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจการเรียนรู้ที่ดี การให้วิธีการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องกับเด็ก การกระตุ้นการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม การเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย หรือมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น คิดว่าเด็กยังเล็กเกินกว่าจะสอนอะไรได้ การทำเป็นพูดไม่ชัดเวลาเล่นกับเด็ก การมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกับเด็กน้อย การปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า ยิ่งให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์มากเท่าใด ก็ยิ่งมีผลทำให้เด็กเรียนรู้การพูดได้ช้าลงเท่านั้น อีกทั้งการดูการ์ตูนซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลง และความจำไม่ดี พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะช่วยพัฒนาสมองลูก ดังนี้
- อาหาร ให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ในปริมาณพอเหมาะ อย่างถูกสุขลักษณะ และดื่มน้ำเพียงพอ
- การออกกำลังกาย ให้กระโดดโลดเต้นอย่างอิสระ ตามความสนใจ เล่นกีฬาที่ลูกชอบ อย่างพอเหมาะ แต่ไม่ใช่การฝึก ซ้อมอย่างหนักเพื่อการแข่งขันที่จะสร้างความเครียดให้กับลูก
- การพักผ่อน ให้ลูกได้หลับสนิทอย่างที่เพียงพอ ภายหลังการเรียนรู้มาตลอดทั้งวัน เพื่อให้สมองได้จัดระบบความคิด และเก็บข้อมูลในช่วงที่ร่างกายผ่อนคลายที่สุด จะทำให้ลูกมีความจำดี
- การอ่านหนังสือ ฝึกนิสัยรักการอ่านให้ลูก โดยอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ หาหนังสือภาพให้ลูกดู และเริ่มชี้ตัวอักษรให้ลูกดูเมื่อถึงวัยอนุบาล และพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวในหนังสือ
- การเล่น เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นซนบ้าง เช่น เล่นน้ำ เล่นทราย ปั้นแป้ง ขยำกระดาษ ขีดเขียน เล่นสีน้ำ จะช่วยเสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเล่นสมมุติจะช่วยจัดระบบความคิดในสมองให้เป็นลำดับขั้น พ่อแม่ควรเลือกของเล่นที่ฝึกให้ลูกได้คิด เช่น หยอดบล็อก ต่อบล็อก ต่อภาพตัดต่อ เกมกระดาน เพื่อฝึกการคิดแก้ปัญหา โดยเลือกของเล่นให้สมกับวัยของเด็ก ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการเล่นที่มีสิ่งเร้า มีเรื่องราวให้ติดตาม หรือแข่งขันมากเกินไป ที่จะทำให้เด็กหมกมุ่นได้ เช่น เกมคอมพิวเตอร์
- การสนทนา พ่อแม่ที่เอาใจใส่พูดคุยกับลูก จะทำให้ลูกเรียนได้ดี และช่วยให้มีเชาวน์ปัญญาดี เนื่องจากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการคิด ตลอดจนการเชื่อมโยงประสบการณ์จากความจำ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด พ่อแม่ควรฝึกการคิดเป็นระบบให้ลูกด้วยการใช้คำถาม เช่น ลูกคิดว่าอย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยไม่ตัดสินว่า คำตอบของลูกผิด แต่ใช้การถามให้คิดในมุมมองใหม่ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ควรให้ความสนใจกับคำถามของลูก ชวนลูกไปค้นคว้าหาคำตอบร่วมกัน จะเป็นการปลูกฝังให้ลูกรู้จักแสวงหาความรู้ ทั้งนี้ การพูดคุยอย่างมีเหตุผล ด้วยความรักและการยอมรับ มีผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและมีอิทธิพลต่อเชาวน์ปัญญาของลูก
- การแก้ปัญหา พ่อแม่เลี้ยงดูลูกแบบทนุถนอมปกป้องมากเกินไปจนตัดสินใจให้ลูกทุกอย่าง จะทำให้พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของลูกช้าลง ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การคิดแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆที่เหมาะสมกับวัย เพื่อฝึกวิธีคิดอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหา แต่ถ้าลูกพยายามแล้ว ยังแก้ไขไม่ได้ อาจช่วยชี้แนะบ้าง แต่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเผชิญปัญหาตามลำพังจนท้อแท้ หมดกำลังใจ
- การท่องเที่ยว พาลูกไปเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจเหมาะกับวัย เช่น สวนสัตว์ สวนดอกไม้ หรือชมการแสดงสำหรับเด็ก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา ให้ลูกรู้จัก สังเกต และจดจำ
เกร็ดความรู้เพื่อครู
การเพิ่มความสามารถทางเชาวน์ปัญญาให้แก่เด็กปฐมวัย สามารถทำได้ ดังนี้
- จัดเกมการศึกษาให้หลากหลาย เช่น จับคู่ภาพเหมือน/ต่าง จับคู่ภาพกับเงา จับคู่จำนวนกับตัวเลข ต่ออนุกรม ต่อภาพตัดต่อ เรียงลำดับเหตุการณ์ ขนาด จัดหมวดหมู่ ต่อบล็อก ต่อภาพตัดต่อ
- ให้เด็กได้เล่นกับของจริงก่อนเล่นเกมที่เป็นสื่อกระดาษ เช่น ได้เล่นกับเงาก่อนจับคู่ภาพกับเงา จับคู่สิ่งที่เหมือนกันก่อนจับคู่ภาพเหมือน ฯลฯ
- เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด พูด แสดงความคิดเห็น และแก้ปัญหาเองก่อนเสมอ
บรรณานุกรม
- Bartholomew, D.J. (2004). Measuring Intelligence: Facts and Fallacies. Cambridge University Press.
- Brotherson, S. (2005). Keys to Enhancing Brain Development in Young Children. http://www.ag.ndsu.edu/pubs/yf/famsci/fs611w.htm [2012, June 17].
- Cooper, N.R., Uller, C., Pettifer, J and Stolc FC. (2009). Conditioning attentional skills: examining the effects of the pace of television editing on children's attention. Department of Psychology, University of Essex.
- Dawson, G. (1999). Human Behavior and the Developing Brain. Guilford Press.
- Dodge D.T. and Heroman, C. (1999). Building Your Baby’s Brain: A Parent’s Guide to the First Five Years; Teaching Strategies Inc.
- Eliot, L. (2000) What's Going on in There? : How the Brain and Mind Develop in the First Five Years of Life; Bantam Book.
- Gais, S., Lucas, B. and Born, J. (2006). Sleep after learning aids memory recall. Learning and Memory 13. Department of Neuroendocrinology, University of L?beck
- Gottfredson, L.S. (2005). Suppressing intelligence research: Hurting those we intend to help. Taylor and Francis Psychology Press.
- Kaufman, A.S. (2009). IQ Testing 101. Springer Publishing.
- Kuhl P.K. (2005). Early language acquisition: Cracking the speech code. Nature Neuroscience 5.
- Lillard, A.S. and Peterson,J (2011). The Immediate Impact of Different Types of Television on Young Children's Executive Function. American Academy of Pediatrics.
- Naglieri J. A. and Bornstein B. T. (2003). Intelligence and Achievement: Just how Correlated are they? Journal of Psychoeducational Assessment 21.
- Pietropaolo, S. and Crusio, W. E. (2010). Genes and cognition. Wiley Interdisciplinary Reviews
ที่มา : http://taamkru.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%A7/
03778 โดย ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2013-12-14 00:31:14 v : 6167
|