เรียนรู้เรื่อง IQ


ไอคิว (IQ) หรือ Intelligence Quotient คือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการคิด การเชื่อมโยง การใช้เหตุผล การคำนวณ สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนด้วยแบบทดสอบทางสติปัญญา ระดับของไอคิวปกติอยู่ใน ช่วง 90-110 คนที่มีระดับไอคิวสูงจะเป็นคนเก่งมีสมองรับรู้ว่องไว เรียนหนังสือเก่ง พ่อแม่ทุกคนจึงปรารถนาให้ลูกมีไอคิวสูง แม้ศักยภาพทางสมองนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ไม่ง่ายนัก แต่พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาสมองให้ลูกได้

เขาวัดไอคิวกันอย่างไร?

ไอคิวถูกคิดค้นโดย Louis William Stern นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน และต่อมา Lewis Terman นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาแบบทดสอบไอคิว (IQ Test) ขึ้นเพื่อวัดระดับสติปัญญาเป็นครั้งแรก โดยแบ่งระดับจาก A ถึง E แต่ปัจจุบันเรานิยมใช้ระบบแปลผลออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งมีแบบทดสอบไอคิวหลายแบบ ซึ่งการวัดไอคิวต้องทำโดยนักจิตวิทยาคลินิกซึ่งได้รับการฝึกฝนการใช้แบบทดสอบจนชำนาญ ไม่ใช่การทดสอบที่ใครก็สามารถวัดได้ ดังนั้น แบบทดสอบไอคิวที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด หรือแบบทดสอบทางเว็บไซต์จึงเป็นเพียงแบบทดสอบที่ทำเล่นสนุกๆเท่านั้น ทั้งนี้ การคำนวณตัวเลขไอคิวจะใช้สูตร IQ = [อายุสมอง (Mental Age) ÷ อายุจริง (Chronologic Age)] × 100 ซึ่งเป็นการเทียบระดับการเรียนรู้หรือพัฒนาการของสมองว่าอยู่ระดับไหนเมื่อเทียบกับอายุจริง หากวัดไอคิวได้ 100 หมายความว่า อายุสมองเท่ากับอายุจริง เช่น ถ้าอายุ 6 ปี แสดงว่าอายุสมองคือ 6 ปีเช่นกัน แต่ถ้าวัดไอคิวได้ต่ำกว่า 100 แสดงว่าอายุสมองต่ำกว่าอายุจริง หรือถ้าวัดไอคิวได้มากกว่า 100 แสดงว่า อายุสมองมากกว่าอายุจริง และนำคะแนน มาเทียบกับตารางสถิติของประชากรในโลกซึ่งมีระดับไอคิวในแต่ละช่วงเป็นร้อยละ ดังนี้

แสดงเป็นแผนภูมิได้ดังนี้

ภาพจาก IQ Scores - Average IQ Score http://www.iqtest-center.com/iq-scores.php

จากแผนภูมิจะพบว่า คนส่วนใหญ่ มีระดับไอคิวอยู่ในช่วง 100 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีไอคิวอยู่ในระดับต่ำมาก หรือสูงมาก

ไอคิวสูงหรือต่ำเกิดจากอะไร?

ความฉลาดหรือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากพันธุกรรม ไอคิวของลูกจึงได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น พ่อแม่ที่มีไอคิวสูง ลูกมักมีไอคิวสูงด้วย ส่วนพ่อแม่ที่มีไอคิวไม่สูง ลูกก็จะมีไอคิวไม่สูงเช่นกัน เราจึงไม่พบเด็กอัจฉริยะที่พ่อแม่มีไอคิวไม่สูง หากพบแต่กรณีที่พ่อแม่มีไอคิวสูง แต่ลูกมีไอคิวไม่สูงได้จากบางสาเหตุ เช่น การไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ดังนั้น สิ่งสำคัญกว่าตัวเลขระดับไอคิวคือ การจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของสมองของลูก เพราะหากกระตุ้นน้อย แม้เกิดมามีต้นทุนสมองดี แต่สมองก็ไม่พัฒนาเต็มศักยภาพเมื่อโตขึ้น

ผลการวัดไอคิวบ่งบอกความฉลาดของลูกได้แน่นอนหรือไม่?

ผลการวัดไอคิวบ่งชี้เฉพาะระดับสติปัญญาในบางด้านของเด็กที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้เท่านั้น ยังมีความฉลาดในด้านอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความฉลาดทางอารมณ์ ( EQ) นอกจากนี้ ในการทดสอบ ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นที่มีผลต่อคะแนนไอคิวด้วย เช่น แบบทดสอบที่ใช้เป็นแบบทดสอบมาตรฐานหรือไม่ ใครเป็นผู้ทดสอบ ช่วงเวลาที่ทดสอบ เด็กมีความพร้อมเพียงใด ให้ความร่วมมือหรือไม่ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากระดับอายุของเด็กในขณะทดสอบ มีงานวิจัยพบว่าไอคิวที่วัดเมื่อเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี กับไอคิววัดเมื่ออายุ 17-18 ปี นั้นมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์กันต่ำมาก โดยจะค่อยๆสูงขึ้นเมื่ออายุ 5-7 ปี และมีพัฒนาการของเชาวน์ปัญญาถึงขั้นสูงสุดคือ ระหว่างอายุ 15-25 ปี จากนั้นจะเริ่มเสื่อมลงตามวัย ดังนั้น การวัดไอคิวเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับประถมและมัธยม คะแนนไอคิวจึงจะเชื่อถือได้มากขึ้น

ควรพาลูกไปวัดไอคิวหรือไม่?

หลักสำคัญในการวัดไอคิวคือ เพื่อคัดกรองเด็กที่มีความต้องการพิเศษในด้านการเรียนรู้ออกจากเด็กปกติ ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ และเด็กที่มีอัจฉริยภาพสูง ทั้งนี้เพราะเด็กที่มีไอคิวต่ำจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ ไม่สามารถเรียนหนัง สือได้เหมือนกับเพื่อน เช่น เด็กอายุ 8 ปี แต่ไอคิวเท่ากับเด็กอายุ 6 ปี หากเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เหมือนเพื่อนวัยเดียว กัน จะมีปัญหาได้ ครูอาจจัดให้เรียนคละชั้นกับเด็กอายุ 6 ปี โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีพัฒนาการเหมาะสมกับวัย ซึ่งในขณะเดียวกัน เด็กที่มีอายุสมองมากกว่าอายุจริง เช่น อายุสมองเท่ากับเด็กอายุ 12 ปี หากต้องเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กับเด็กอายุ 8 ปีเท่ากัน จะทำให้เด็กเบื่อ ไม่สนใจเรียน พ่อแม่หรือครูอาจคิดว่า เด็กเกเรไม่ยอมเรียนหนังสือจึงลงโทษ ทำให้เด็กยิ่งเสียโอกาสในการพัฒนาสมองให้เต็มศักยภาพ ดังนั้น หากสังเกตจากพฤติกรรมแล้วพบว่า ลูกปกติดี ก็ไม่มีความจำ เป็นต้องไปวัดไอคิว เพราะเราไม่วัดไอคิวลูกเพียงเพื่อจะบอกว่า ลูกฉลาดหรือไม่ เพราะการวัดไอคิวเด็กโดยไม่มีข้อบ่งชี้ อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ เช่น หากพ่อแม่พาไปทดสอบ แล้วพบว่าไอคิวลูกต่ำ ความรู้สึกของพ่อแม่ที่คาดหวังว่าลูกต้องเฉลียวฉลาด อาจยอมรับไม่ได้ คิดว่าลูกสมองไม่ดี เสียใจ และพยายามแก้ไขทุกวิถีทางจนกลายเป็นความเครียดของครอบ ครัวซึ่งยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก หรือบางครอบครัวอาจปล่อยปละละเลยลูกไปเลย เด็กบางคนที่พบว่าตนมีไอคิวสูง อาจไม่สนใจการเรียน ไม่แสวงหาความรู้ คิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น หรืออาจถูกคาดหวังจากพ่อแม่และครูว่า จะ ต้องเรียนเก่งทุกวิชา จะต้องได้คะแนนเต็มทุกครั้งในการสอบ ซึ่งตามความเป็นจริงในชีวิตของเด็กยังต้องการทักษะและความสามารถในด้านอื่นนอกเหลือไปจากการเรียนเก่ง ความจำดี การคิดเลขได้เร็ว สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อ เสียงได้ เพราะนั่นไม่ได้เป็นหลักประกันถึงชีวิตที่มีความสุขของเด็ก ดังงานวิจัยที่พบว่า ไอคิวมีผลต่อความสามารถในการทำงานได้ดีหรือกับการดำเนินชีวิตเพียงเล็กน้อย และพบว่าปัจจัยที่สร้างความสำเร็จในชีวิตได้ดี เป็นทักษะชีวิตในวัยเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอคิว เช่น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การยอมรับความผิดหวัง และการปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น และมีงานวิจัยที่พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์และสังคม ทำให้คนประสบความสำเร็จในอาชีพและมีชื่อเสียงมากกว่าความ สามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวถึง 4 เท่า

พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกฉลาดได้อย่างไร? 

ตามธรรมชาติ อายุของสมองของคนปกติจะเป็นไปตามอายุจริง ถ้าเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้กับลูก ลูกก็จะฉลาดขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากสมองไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างถูกต้อง วงจรการเรียนรู้ในสมองของเด็กก็จะเกิดปัญหา ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกระบวนการจัดการของสังคม ทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ไม่ได้ดี เบื่อเรียน สาเหตุมาจากการที่เราไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจการเรียนรู้ที่ดี การให้วิธีการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องกับเด็ก การกระตุ้นการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสม การเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย หรือมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น คิดว่าเด็กยังเล็กเกินกว่าจะสอนอะไรได้ การทำเป็นพูดไม่ชัดเวลาเล่นกับเด็ก การมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกับเด็กน้อย การปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า ยิ่งให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์มากเท่าใด ก็ยิ่งมีผลทำให้เด็กเรียนรู้การพูดได้ช้าลงเท่านั้น อีกทั้งการดูการ์ตูนซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลง และความจำไม่ดี พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะช่วยพัฒนาสมองลูก ดังนี้

  • อาหาร ให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ในปริมาณพอเหมาะ อย่างถูกสุขลักษณะ และดื่มน้ำเพียงพอ
  • การออกกำลังกาย ให้กระโดดโลดเต้นอย่างอิสระ ตามความสนใจ เล่นกีฬาที่ลูกชอบ อย่างพอเหมาะ แต่ไม่ใช่การฝึก ซ้อมอย่างหนักเพื่อการแข่งขันที่จะสร้างความเครียดให้กับลูก
  • การพักผ่อน ให้ลูกได้หลับสนิทอย่างที่เพียงพอ ภายหลังการเรียนรู้มาตลอดทั้งวัน เพื่อให้สมองได้จัดระบบความคิด และเก็บข้อมูลในช่วงที่ร่างกายผ่อนคลายที่สุด จะทำให้ลูกมีความจำดี
  • การอ่านหนังสือ ฝึกนิสัยรักการอ่านให้ลูก โดยอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ หาหนังสือภาพให้ลูกดู และเริ่มชี้ตัวอักษรให้ลูกดูเมื่อถึงวัยอนุบาล และพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวในหนังสือ
  • การเล่น เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นซนบ้าง เช่น เล่นน้ำ เล่นทราย ปั้นแป้ง ขยำกระดาษ ขีดเขียน เล่นสีน้ำ จะช่วยเสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเล่นสมมุติจะช่วยจัดระบบความคิดในสมองให้เป็นลำดับขั้น พ่อแม่ควรเลือกของเล่นที่ฝึกให้ลูกได้คิด เช่น หยอดบล็อก ต่อบล็อก ต่อภาพตัดต่อ เกมกระดาน เพื่อฝึกการคิดแก้ปัญหา โดยเลือกของเล่นให้สมกับวัยของเด็ก ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการเล่นที่มีสิ่งเร้า มีเรื่องราวให้ติดตาม หรือแข่งขันมากเกินไป ที่จะทำให้เด็กหมกมุ่นได้ เช่น เกมคอมพิวเตอร์
  • การสนทนา พ่อแม่ที่เอาใจใส่พูดคุยกับลูก จะทำให้ลูกเรียนได้ดี และช่วยให้มีเชาวน์ปัญญาดี เนื่องจากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการคิด ตลอดจนการเชื่อมโยงประสบการณ์จากความจำ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด พ่อแม่ควรฝึกการคิดเป็นระบบให้ลูกด้วยการใช้คำถาม เช่น ลูกคิดว่าอย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยไม่ตัดสินว่า คำตอบของลูกผิด แต่ใช้การถามให้คิดในมุมมองใหม่ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ควรให้ความสนใจกับคำถามของลูก ชวนลูกไปค้นคว้าหาคำตอบร่วมกัน จะเป็นการปลูกฝังให้ลูกรู้จักแสวงหาความรู้ ทั้งนี้ การพูดคุยอย่างมีเหตุผล ด้วยความรักและการยอมรับ มีผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและมีอิทธิพลต่อเชาวน์ปัญญาของลูก
  • การแก้ปัญหา พ่อแม่เลี้ยงดูลูกแบบทนุถนอมปกป้องมากเกินไปจนตัดสินใจให้ลูกทุกอย่าง จะทำให้พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของลูกช้าลง ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การคิดแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆที่เหมาะสมกับวัย เพื่อฝึกวิธีคิดอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหา แต่ถ้าลูกพยายามแล้ว ยังแก้ไขไม่ได้ อาจช่วยชี้แนะบ้าง แต่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเผชิญปัญหาตามลำพังจนท้อแท้ หมดกำลังใจ
  • การท่องเที่ยว พาลูกไปเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจเหมาะกับวัย เช่น สวนสัตว์ สวนดอกไม้ หรือชมการแสดงสำหรับเด็ก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา ให้ลูกรู้จัก สังเกต และจดจำ

 

เกร็ดความรู้เพื่อครู

การเพิ่มความสามารถทางเชาวน์ปัญญาให้แก่เด็กปฐมวัย สามารถทำได้ ดังนี้

  • จัดเกมการศึกษาให้หลากหลาย เช่น จับคู่ภาพเหมือน/ต่าง จับคู่ภาพกับเงา จับคู่จำนวนกับตัวเลข ต่ออนุกรม ต่อภาพตัดต่อ เรียงลำดับเหตุการณ์ ขนาด จัดหมวดหมู่ ต่อบล็อก ต่อภาพตัดต่อ
  • ให้เด็กได้เล่นกับของจริงก่อนเล่นเกมที่เป็นสื่อกระดาษ เช่น ได้เล่นกับเงาก่อนจับคู่ภาพกับเงา จับคู่สิ่งที่เหมือนกันก่อนจับคู่ภาพเหมือน ฯลฯ
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด พูด แสดงความคิดเห็น และแก้ปัญหาเองก่อนเสมอ

 

บรรณานุกรม

  1. Bartholomew, D.J. (2004). Measuring Intelligence: Facts and Fallacies. Cambridge University Press.
  2. Brotherson, S. (2005). Keys to Enhancing Brain Development in Young Children. http://www.ag.ndsu.edu/pubs/yf/famsci/fs611w.htm [2012, June 17].
  3. Cooper, N.R., Uller, C., Pettifer, J and Stolc FC. (2009). Conditioning attentional skills: examining the effects of the pace of television editing on children's attention. Department of Psychology, University of Essex.
  4. Dawson, G. (1999). Human Behavior and the Developing Brain. Guilford Press.
  5. Dodge D.T. and Heroman, C. (1999). Building Your Baby’s Brain: A Parent’s Guide to the First Five Years; Teaching Strategies Inc.
  6. Eliot, L. (2000) What's Going on in There? : How the Brain and Mind Develop in the First Five Years of Life; Bantam Book.
  7. Gais, S., Lucas, B. and Born, J. (2006). Sleep after learning aids memory recall. Learning and Memory 13. Department of Neuroendocrinology, University of L?beck
  8. Gottfredson, L.S. (2005). Suppressing intelligence research: Hurting those we intend to help. Taylor and Francis Psychology Press.
  9. Kaufman, A.S. (2009). IQ Testing 101. Springer Publishing.
  10. Kuhl P.K. (2005). Early language acquisition: Cracking the speech code. Nature Neuroscience 5.
  11. Lillard, A.S. and Peterson,J (2011). The Immediate Impact of Different Types of Television on Young Children's Executive Function. American Academy of Pediatrics.
  12. Naglieri J. A. and Bornstein B. T. (2003). Intelligence and Achievement: Just how Correlated are they? Journal of Psychoeducational Assessment 21.
  13. Pietropaolo, S. and Crusio, W. E. (2010). Genes and cognition. Wiley Interdisciplinary Reviews

 

ที่มา : http://taamkru.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%A7/



03777 โดย ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2013-12-14 00:30:54 v : 2144



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา