ผลวิจัยชี้ วัยเรียนใช้มือถือ ไม่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม
นักวิจัยมศว ชี้วัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนมากแบบไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมวอนเจ้าของค่ายฯ นอกจากทำโปรโมชั่นขายของแล้ว ควรรณรงค์วิธีรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย นางพรรณี บุญประกอบ หนึ่งในคณะผู้วิจัยการสำรวจพฤติกรรมการใช้และขจัดโทรศัพท์มือถือ – แบตเตอรรี่ของคนไทย สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือมีผู้คนในสังคมใช้กันอย่างแพร่หลาย นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทุกคนต้องมี และโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ 1 เครื่อง 2 เครื่อง หรือบางคนก็ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 3 เครื่อง ส่วนผู้ให้บริการนั้นมีการทำโปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนการขายหลายรูปแบบ การที่ทำโปรโมชั่นต่างๆ จึงส่งเสริมเกิดการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น เมื่อบริโภคมากใช้งานมากก็ย่อมมีขยะที่มาจากการใช้โทรศัพท์ ซึ่งก็คือแบตเตอรี่มือถือที่เพิ่มพูนเป็นจำนวนมาก และเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบอีกว่าพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของคนในสังคมยังเป็นปัญหา ตั้งแต่การขับรถแล้วใช้โทรศัพท์ การโทรศัพท์ในที่ๆ มีการห้ามในโทรศัพท์ หรือโทรศัพท์ขณะข้ามถนน ใช้โทรศัพท์ในขณะฝนตกใกล้สายไฟแรงสูง “จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์และขจัดโทรศัพท์มือถือ – แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นงานวิจัยในเขตกรุงเทพฯ การสำรวจครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงเชิงปริมาณ โดยสำรวจจากนิสิต นักศึกษา และบุคคลจากอาชีพต่างๆ จำนวน 2,176 คน พบว่านิสิตนักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยในแต่ละครั้ง 39 นาที ในขณะที่กลุ่มคนทั่วไปใช้โทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยแต่ละครั้งประมาณ 17 นาที ผู้ใช้โทรศัพท์ส่วนใหญ่เปลี่ยนแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือมาแล้วจำนวน 2 ก้อน และส่วนใหญ่จะเก็บแบตเตอรี่โทรศัพท์ที่เสื่อมสภาพแล้วไว้ที่บ้าน รองลงมาจะทิ้งปะปนกับขยะอื่นๆ ซึ่งคนที่ไม่สนใจเรื่องการทิ้งแบตเตอรี่ในที่ๆ เหมาะสมนั้นพบว่าเป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช่นิสิตนักศึกษามีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์อย่างปลอดภัยและตั้งใจขจัดแบตเตอรี่อย่างระมัดระวังกว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา” นางพรรณี กล่าวอีกว่า พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างปลอดภัยและความตั้งใจขจัดแบตเตอรี่โทรศัพท์ ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของคนๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นอายุ ความรู้ ค่านิยมความสะดวกสบาย ความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม การตระหนักรู้ถึงผลดีผลเสียของการใช้โทรศัพท์มือถือ จากผลการวิจัยพบว่านักเรียน นิสิต นักศึกษามีพฤติการณ์การใช้มือถืออย่างไม่ปลอดภัย เมื่อผลการวิจัยออกมาเช่นนี้ จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทที่จำหน่วยโทรศัพท์มือถือควรจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการใช้โทรศัพท์อย่างปลอดภัยด้วย ตลอดถึงควรจะเผยแพร่จุดทิ้งแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น ในแผ่นปลิวที่บอกชื่อโทรศัพท์เพื่อชักชวนคนใช้โทรศัพท์ หรือซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ควรจะมีข้อความรณรงค์การใช้โทรศัพท์อย่างปลอดภัย และบอกถึงจุดทิ้งขยะมือถือให้มากขึ้นด้วย “บริษัทที่จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ น่าจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์อย่างปลอดภัยและทำเป็นนโยบายของบริษัท สิ่งเหล่านี้เป็นการร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เอาแต่ประโคมข่าวเพื่อจะขายโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวจนลืมเรื่องอื่นๆ ไปจนหมด นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารควรจะวางมาตรการดูแลปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการใช้โทรศัพท์มือถือด้วย”
http://www.manager.co.th/
03368 โดย ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2013-04-04 00:52:15 v : 6655
|