พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี


พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทเขมรในศิลปะบายน (พ.ศ. 1720 - 1773) โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชา แต่เดิมภายในปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปพระโลเกศวร (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สี่กร และปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกร

สถานที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ
      ตั้งอยู่ที่
ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ เป็นปราสาทศิลาแลงแบบเขมรเรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ภายในบริเวณนอกจากปราสาททั้ง 3 องค์นี้แล้ว ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีการต่อเติมวิหารก่ออิฐถือปูนเชื่อมต่อกับปราสาทประธานเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 -2231)

ประวัติ
     กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 904 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 และได้กำหนดเขตที่ดินให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 2งาน 54 ตารางวา ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119 ง ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
        เป็น
ปราสาทเขมร 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน (อันตรละ) โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ โครงสร้างของปราสาททำจากศิลาแลงฉาบปูน มีการประดับประดาตามส่วนต่างๆ ของปราสาทด้วยปูนปั้น อันเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) ที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เช่น ปรางค์พรหมทัตที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประดิษฐานพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ที่สร้างเป็นปราสาทศิลาแลง 3 องค์เรียงกันในลักษณะเดียวกับพระปรางค์สามยอด และปรางค์องค์กลางของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

ลวดลายประดับ
      ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดลงมาเป็นการยกเก็จสามเก็จตรงด้านและมุมประดับด้วยกลีบขนุนทำจากศิลาแลง และบางส่วนทำจากปูนปั้นเป็นรูปบุคคลยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนที่ยกเก็จชั้นที่ 4 เดิมทั้ง 4 ทิศ จะมีการปั้นเทพประจำทิศอยู่ในกลีบขนุนและตอนล่าง ได้แก่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประจำทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์ ประจำทิศตะวันตก ท้าวกุเวรทรงมกร ทิศเหนือ และ พระยมทรงกระบือ ทิศใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วน สันหลังคาของมุขกระสันประดับด้วยบราลีศิลาแลงปั้นเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเสียหายทั้งหมด

  • บัวรัดเกล้าเรือนธาตุ

มีการประดับลวดลายปูนปั้นประกอบไปด้วย แถวบนสุดเป็นลายดอกไม้กลม ถัดลงมาปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย แถวถัดลงมาเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน รูปหงส์ ลายกลีบบัวหงาย ลายก้านขด และดอกบัวตูม เรียงเป็นแถว ลวดลายละ 1 แถวรวมเป็น 3 แถว จบด้วยลายกรวยเชิงเป็นรูปเกียรติมุข (หน้ากาล) คายเฟื่องอุบะ

  • ตอนกลางของเรือนธาตุ

มีลายปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขดที่แถวบนสุด ถัดลงมาเป็นบัวฟันยักษ์คว่ำ หน้ากระดานเป็นลายกระจังประกอบกันเป็นลายกากบาทแทรกด้วยลายประจำยามลายเล็กและลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดลงมาเป็นลายกลีบบัวหงาย ลายกระหนกวงโค้ง ลายดอกบัว ตอนล่างสุดเป็นลายกรวยเชิงตามลำดับ

  • บัวเชิงเรือนธาตุ

ด้านบนสุดเป็นรูปใบหน้าของชาวจามที่เป็นศัตรูกับชาวเขมรที่ถูกประดิษฐ์เป็นใบหน้าของยักษ์ประกอบกับลายกรวยเชิง อันเป็นที่นิยมมากในศิลปะแบบบายนของกัมพูชา ถัดลงมาเป็นลายดอกบัว สันลูกแก้วอกไก่เป็นลายรักร้อย และบัวฟันยักษ์คว่ำ ลายก้านขด และดอกซีกดอกซ้อน ลายละหนึ่งแถวตามลำดับ

ในส่วนของลวดลายหน้าบันและทับหลังนั้นปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการปั้นปูนประดับลงบนศิลาแลงเมื่อเวลาผ่านไปรูอากาศของศิลาแลงจะมีการขยายตัวทำให้ลวยลายปูนที่ปั้นประดับอยู่นั้นกะเทาะออกมารวมถึงลิงที่มาอาศัยก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และดัดแปลงพระปรางค์สามยอดเพื่อใช้เป็นพุทธศาสนสถานอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการซ่อมแซมส่วนที่เป็นเพดาน โดยยังคงเห็นร่อยรอยของการปิดทองเป็นรูปดาวเพดาน และการสร้างฐานภายในพระปรางค์สามยอดหลายฐานลักษณะคล้ายกับฐานชุกชีด้วยอิฐ อันเป็นวัสดุที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของพระปรางค์สามยอดซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง

รูปเคารพในพระปรางค์สามยอด
      ปัจจุบันไม่พบหลักฐานรูปเคารพประธานในพระปรางค์สามยอด พบเพียงฐาน
สนานโทรณิที่ใช้เป็นแท่นรองสรง แต่จากรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาท 3 องค์ที่พบภายในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่นิยมเรียกกันว่า "พระพิมพ์รัตนตรัยมหายาน" ทำให้ทราบว่า แต่เดิมภายในปราสาทประธานของพระปรางค์สามยอดคงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง พระโลเกศวรสี่กรในปราสาททิศใต้ และพระนางปรัชญาปารมิตาในปราสาททิศเหนือ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในพระพิมพ์ โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้คติความเชื่อพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานจากกัมพูชา[3]

สำหรับพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ได้แก่ พระอาทิพุทธะ หรือพระมหาไวโรจนะ ซึ่งทรงเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่จารึกของกัมพูชาเรียกว่า พระวัชรสัตว์[4] ในศิลปะเขมรนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก ส่วนพระโลเกศวรอันเป็นพระนามที่ปรากฏในจารึกของกัมพูชาใช้เรียกพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงเป็นบุคลาธิษฐานของความเมตตากรุณาและสัญลักษณ์ของอุบาย (อุปายะ) และพระนางปรัชญาปารมิตา เทวนารีผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาอันล้ำเลิศบุคลาธิษฐานของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร รูปเคารพทั้ง 3 นี้นิยมสร้างในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน โดยประกอบกันเป็นความหมายเชิงพุทธปรัชญาของลัทธิวัชรยาน กล่าวคือ พระโลเกศวรทรงเป็นตัวแทนของอุบาย หรือวิธีการอันแนบเนียนซึ่งใช้ไขเข้าสู่ปราชฺญา หรือปัญญาที่มีพระนางปรัชญาปารมิตาเป็นสัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่การบรรลุพุทธสภาวะหรือศูนฺยตา ซึ่งแทนด้วยพระวัชรสัตว์นาคปรก

สำหรับรูปเคารพอื่นๆ ที่พบในพระปรางค์สามยอดนั้น ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งกรมศิลปากรได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด
        อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด พิจารณาจากรูปแบบการก่อสร้างที่ใช้
ศิลาแลงเป็นโครงสร้าง พอกด้วยปูน และประดับด้วยลวดลายปูนปั้น อันเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในศิลปะบายนของกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และยังสอดคล้องกับรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาทสามยอด ที่ภายในแต่ละยอดประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก พระโลเกศวรสี่กร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่เคยประดิษฐานภายในปราสาททั้ง 3 หลังของพระปรางค์สามยอดด้วย โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา จากเหตุผลดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่าพระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ที่ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1724 ถึงประมาณ 1757

ส่วนวิหารด้านหน้าของพระปรางค์สามยอดคงสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยพิจารณาจากเทคนิคการสร้างซุ้มโค้งของประตูและหน้าต่างที่ก่ออิฐตะแคงเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) อันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังตัวอย่างจากซุ้มโค้งของบ้านวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งสร้างในรัชสมัยดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ผนังของวิหารซึ่งมีการเสริมศิลาแลงเข้าไประหว่างอิฐเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้นก็เป็นเทคนิคที่นิยมในรัชสมัยนี้เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในอาคารหลายหลังที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

ที่มา : http://th.wikipedia.org



00332 โดย วลัยลักษณ์ ภู่เจริญ 2009-12-06 12:27:01 v : 3341



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา