ความเป็นมาการศึกษาในเวียดนาม


ความเป็นมาของการศึกษาเวียดนามโดยย่อ

 

ประเทศเวียดนามได้มีการพัฒนาการศึกษาควบคู่ไปกับพัฒนาของประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นระยะ ๆ ย่อ ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ดังนี้ (Pham Minh Hac,1995, 42-61)

1.      ระยะที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีน (Period of Chinese Imperial Domination) : 200 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 938

2.      ระยะที่ประเทศมีอิสรภาพ (Period of National Independence) : ค.ศ. 938 -ค.ศ. 1859

3.      ระยะที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส (Period of French Colonialism): ค.ศ. 1859 - 1945

4.      ระยะหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม (Period after August Revolution) : ค.ศ. 1945 - 1975

5.      ระยะของการรวมประเทศ (Period of National Reunification) : ค.ศ. 1975 - ปัจจุบัน

ระยะที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีน

ในระยะนี้ประเทศเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์จีน ดังนั้นผู้บริหารของประเทศจีน จึงเป็นผู้ก่อตั้งระบบการศึกษาในประเทศเวียดนามทั้งในแบบของรัฐและเอกชน ซึ่งในสมัยก่อนเน้นเฉพาะการศึกษาของบุตรชายและการฝึกอบรมบุคคลเพื่อเข้าไปรับราชการและบริหารประเทศ มีนโยบาย "Feudal Intelligentsia" ซึ่งจะคัดเลือกเฉพาะบุตรชายจากครอบครัวขุนนางไปรับราชการกับราชวงศ์จีน ระบบการศึกษาต่อเนื่องของชาวเวียดนามในบางศตวรรษพบว่า บุคคลชาวเวียดนามที่มีฐานะทางสังคมดีและมีสติปัญญาดีจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาต่อในประเทศจีน โดยมีการสอบแข่งขันหลายขั้นตอนและครั้งสุดท้ายจะสอบที่กรุงปักกิ่ง เมื่อสอบผ่านจะได้วุฒิเทียบเท่า Doctor’s Degree ระบบการศึกษาดังกล่าวสืบทอดมาจนถึง ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 - ค.ศ. 907) ระบบการศึกษาที่เลียนแบบมาจากประเทศจีนประกอบด้วย การศึกษาเบื้องต้น (Primary Education) ที่มีระยะเวลาการศึกษาน้อยกว่า 15 ปี และการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ที่มีระยะเวลาการศึกษามากกว่า 15 ปีขึ้นไป

ระยะที่ประเทศมีอิสรภาพ

ในปี ค.ศ. 938 Ngo Dinh ได้รบชนะจีนและก่อตั้งราชวงศ์ Ngo Dinh และราชวงศ์ Le ตอนต้น (ค.ศ. 939 - ค.ศ. 1009) การศึกษาส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยเอกชนและโรงเรียนพุทธศาสนา จนกระทั่งราชวงศ์ Le (ค.ศ. 1009 - ค.ศ. 1225) เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองหลวง Thang Long หรือ Ha Noi ในปัจจุบัน มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศเวียดนามเป็นแห่งแรก ใน ค.ศ. 1076 ที่มีชื่อเรียกว่า "Quoc Tu Gian หรือ Royal College" เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาของบุตรชายของครอบครัวที่มีฐานะดี

ในยุคนี้มีการสร้างโรงเรียนของรัฐขึ้นอีกทั้งในส่วนกลางและจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บุตรชายของสามัญชนเข้ารับการศึกษา ทำให้ระบบการศึกษาในประเทศเวียดนามในยุคนี้แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

1.      Royal College อยู่ในเมืองหลวง อยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของกษัตริย์

2.      โรงเรียนในระดับจังหวัดและอำเภอ เป็นโรงเรียนของรัฐซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก

3.      โรงเรียนของภาคเอกชน

อาจสรุปได้ว่าการศึกษาในระยะต้น ๆ ของประเทศเวียดนามอยู่ในระบบศักดินา ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการคัดเลือกคนเข้าไปเรียนเพื่อเป็นขุนนางและข้าราชการในระดับต่าง ๆ

ระยะที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส

ในระยะที่ประเทศเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสนี้ ระยะแรกๆ ยังคงใช้ระบบการศึกษาตามลัทธิขงจื้ออยู่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1917 จึงได้มีการเริ่มระบบการศึกษาแบบฝรั่งเศส แต่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีโรงเรียนประถมศึกษาเกิดขึ้นในหมู่บ้านที่มีพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่น

การศึกษาในเบื้องต้นมีเกรด 1-2 มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน Ecole Communale ใช้เรียกการศึกษาในทางตอนเหนือ Ecole Auxilier Preparatoire ใช้เรียกการศึกษาทางตอนใต้ และ Ecole Preparatoire ใช้เรียกการศึกษาในตอนกลางของประเทศ ในบางเมืองมีการศึกษาพื้นฐาน 6 ปี ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น Ha Noi, Haiphong และ Vinh มีการศึกษาที่สูงกว่า ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 4 ปี และมีเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้นที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา คือ Ha Noi, Hue และ Saigon

ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศฝรั่งเศสมีการพัฒนาการศึกษาวิชาชีพ (Professional Education) ขึ้น โดยมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่มีรูปแบบตะวันตก ในปี ค.ศ. 1902 มีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกที่กรุงฮานอย และมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาหลายแห่งในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาทางด้านเทคนิคและอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง ซึ่งมีระยะเวลาในการศึกษา 2 ปี เน้นการฝึกอบรมทักษะในการทำงานกับเครื่องจักรกล สถาบันการศึกษาในระดับนี้เรียกว่า โรงเรียนฝึกวิชาชีพชั้นสอง จนกระทั่ง ค.ศ. 1919 จึงมีระบบการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิชาฟิสิกส์ เคมี จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1923 ได้เริ่มมีการจดทะเบียนผู้ที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

โดยทั่วไปแล้วระบบการศึกษาของประเทศเวียดนามภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศส ยังมีความจำกัดอยู่มาก โดยพบว่ามีจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนประมาณรัอยละ 2.6 ของประชากรในวัยเรียนทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่มีประชากรทั้งหมด 17,702,000 คน ในปี ค.ศ. 1931

ระยะหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม

ภายหลังจากการปฏิวัติ เมื่อ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1945 Ho Chi Minh ได้ก่อตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย "The Democratic Republic of Vietnam" ขึ้นในเขตยึดครองทางเหนือ มีการกำหนดนโบายจากรัฐบาลเพื่อการรณรงค์การไม่รู้หนังสือ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาระบบการศึกษาในประเทศอย่างอิสระ โดยมีนโยบายการฝึกอบรมประชาชนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถและมีศักยภาพในการพัฒนาชาติ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการทำสงครามต่อสู้กับฝรั่งเศสเรื่อยมาจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1954 จึงได้รับชัยชนะที่ Dien Bien Phu รัฐบาลจึงดำเนินการปฏิรูปทางการศึกษาที่สำคัญ คือ "การศึกษาของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" มีวัตถุประสงค์ในการอบรมคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองที่จงรักภักดีต่อบรรพบุรุษและบ้านเกิดเมืองนอน เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศ เป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในอนาคตและมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เน้นการศึกษาทางทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ เน้นอุดมการณ์สังคมนิยม มีการประกาศ "นโยบายการศึกษาทั่วไปสำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (The General Education Policy of the Democratic Republic of Vietnam)" โดยมีวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปครั้งนี้ คือ เพื่อฝึกอบรมและส่งเสริมประชาชนและเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นบุคคลที่มีการพัฒนาอย่างครอบคลุม เป็นพลเมืองที่จงรักภักดีต่อบ้านเกิดเมืองนอน เป็นกำลังแรงงานที่ดี มีความฉลาดและมีคุณธรรม ส่งเสริมประชาธิปไตย และสร้างสังคมนิยมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างประเทศและรวมประเทศให้เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตย

จากข้อมูลการศึกษาของประเทศเวียดนามในระยะนี้ จะให้ความสนใจและส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถทางสติปัญญาเป็นพิเศษ โดยมีการจัดห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กในระดับ 3 เพื่อเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น Hanoi University วิทยาลัยครุศึกษาแห่งที่ 1 และวิทยาลัยที่ฝึกอบรมครูเป็นพิเศษเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ เป็นต้น และเพื่อเป็นการเร่งการฟื้นฟูและการพัฒนาประเทศ จึงมีการส่งเสริมการศึกษามัธยมวิชาชีพและการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาไปในขณะเดียวกันเพราะใช้เวลาในการศึกษาที่สั้นกว่า ในปี ค.ศ. 1965 มีการก่อตั้งโรงเรียนวิชาชีพชั้นสองเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 แห่ง และในปี ค.ศ. 1975 มีโรงเรียนมัธยมวิชาชีพ ประมาณ 200 แห่ง ทั่วประเทศ โดยโรงเรียนเหล่านี้ จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนในส่วนกลาง และที่เหลือเป็นโรงเรียนท้องถิ่น โรงเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มจาก 50 แห่ง ในปี ค.ศ. 1965 เป็น 200 แห่ง ในปี ค.ศ. 1975

ในช่วงปี ค.ศ. 1955 - ค.ศ. 1956 มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศเวียดนามเหนือ 7 แห่ง คือ

1.      University of Hanoi

2.      The Teacher Training College of Hanoi

3.      University of Teacher of Hanoi

4.      Hanoi College of Medicine

5.      The Hanoi College of Agriculture

6.      The College of Economics

7.      The College of Fine Arts

ในปีการศึกษา 1974-1975 ในประเทศเวียดนามใต้มีมหาวิทยาลัยเพียง 4 แห่ง ในเมือง Saigon, Hue, Can Tho และ Thu Duc มีวิทยาลัยชุมชนของรัฐ 3 แห่ง ในเมือง My Tho, Nha Trang และ Danang และมีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเอกชนอีก 11 แห่ง

ระยะเวลาการศึกษาในโรงเรียนมัธยมวิชาชีพใช้เวลา 2-3 ปี ส่วนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยใช้เวลา 3-6 ปี ได้แก่ Teacher Training College ใช้เวลา 3 ปี University of Technology หรือ Technical College ใช้เวลา 5 ปี และ College of Medicine ใช้เวลา 6 ปี

ระยะการรวมประเทศ

จากชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศในปี ค.ศ. 1975 นำมาซึ่งความเป็นอิสระในการปกครองประเทศ ประเทศเวียดนามจึงได้มีการรวมประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคง เข้าสู่ระยะใหม่ของการสร้างประเทศ ได้มีการประเมินรูปแบบและระบบการศึกษาที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งยังพบว่า คุณภาพในการพัฒนาคนของระบบการศึกษายังคงมีคุณภาพต่ำ การศึกษายังไม่สามารถสร้างคนที่มีความสามารถทั้งในด้านเทคนิค และนักวิทยาศาสตร์ ที่สามารถจะพัฒนาสังคมและฟื้นฟูประเทศหลังสงครามได้อย่างทันการ จึงได้มีการประกาศนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ฉบับที่ 3 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 1980-1981 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบการศึกษาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการปฏิรูปวัฒนธรรม และระบบความคิดที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคนิควิธีการ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

การศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1975-1985 เป็นช่วงของการจัดการศึกษาในแนวทางสังคมนิยมที่มีมาแต่เดิม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในปี ค.ศ.1986 ได้มีการประกาศใช้นโยบาย Doi Moi จึงได้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงปี 1980-1990 ได้มีการเตรียมการหลาย ๆ อย่าง จนถึงปี ค.ศ.1991 จึงได้มีการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางสมัยใหม่ภายใต้กรอบ Doi Moi อย่างเต็มที่

 
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
1. ทั่วไป

สถาปนาความสัมพันธ์ 6 สิงหาคม 2519 (ค.ศ. 1976)

กลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี

(1) คณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) จัดตั้งเมื่อ 18 สิงหาคม 1991 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนามเป็นประธานร่วม การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 7 เมื่อ 13-14 มีนาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ

(2) คณะอนุกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade Commission) ตั้งเมื่อปี 2538 มีอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์และอธิบดี กรมเอเชียและแปซิฟิค กระทรวงการค้าเวียดนามเป็นประธานร่วม การประชุม JTC ครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 3 เมื่อ 21 ธันวาคม 2542 ที่ กรุงฮานอย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย นายกฤต ไกรจิตติ

กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ นายสมปอง สงวนบรรพ์

เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย นายเหวียน กว๊อก แข็ง (Nguyen Quoc Khanh)

กงสุลใหญ่เวียดนามประจำขอนแก่น อยู่ระหว่างการแต่งตั้ง

2. การเมือง

ปี 2544 เป็นปีครบรอบ 25 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เวียดนาม ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่ การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างไทย-เวียดนาม ในรอบ 10 ปีข้างหน้า การจัดทำความตกลงความร่วมมือระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนคณะนาฏศิลป์ เป็นต้นการแลกเปลี่ยนการเยือนสำคัญ ๆ ในปี 2544 ได้แก่ การเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2544 การเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 และการเยือนของรองรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2544 นอกจากนี้ บุคคลสำคัญระดับสูงของไทยที่เดินทางเยือนเวียดนาม ในโอกาสการครบรอบ 25 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ได้แก่ การเยือนของพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 การเยือนของนายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อสิงหาคม 2544 และการเยือนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อ 8-11 เมษายน 2545

3. เศรษฐกิจ

3.1 การค้าระหว่างไทย-เวียดนามในปี 2545 มีมูลค่า 1,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลัก ที่ไทยส่งไปยังเวียดนามยังคงเป็น เม็ดพลาสติก เหล็ก เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ขณะที่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า น้ำมันดิบ ถ่านหิน เมล็ดพืชน้ำมัน ผลิตภัณฑ์สัตว์ทะเลจากเวียดนาม

3.2 การลงทุนของไทยในเวียดนามจนถึงปี 2545 รวมทั้งสิ้น 110 โครงการ มูลค่า 1.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 9 จาก 56 ประเทศ และเป็นที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค การลงทุนของไทยส่วนใหญ่อยู่ที่นครโฮจิมินห์และจังหวัดใกล้เคียง นักธุรกิจไทยยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนและขยายความร่วมมือกับเวียดนาม เพราะเวียดนามมีปัจจัยการผลิตอันเป็นที่ต้องการของฝ่ายไทย รวมทั้งโอกาสของการส่งออกไปยังตลาดในประเทศที่สาม โดยเฉพาะสหรัฐฯ

3.3 ความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพราะทั้งสองประเทศมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้ ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือในลักษณะนี้คือ ความร่วมมือในการส่งออกข้าว ซึ่งสามารถขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ยางพารา ผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น

4. ความร่วมมือ

4.1 ไทยเริ่มให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่เวียดนามตั้งแต่ปี 2535 ในสาขา สำคัญ ๆ คือ การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ในปี 2544 ไทยให้ความร่วมมือแก่เวียดนามทั้งในกรอบความร่วมมือปกติ และในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตรวมเป็นเงิน 17.7 ล้านบาท และมีแผนงานที่จะให้ความช่วยเหลือเวียดนาม ในวงเงินประมาณ 17 ล้านบาทในปี 2545

4.2 ความร่วมมือด้านการสอนภาษาไทยในเวียดนามประสบความสำเร็จด้วยดี ปัจจุบันไทยมีความร่วมมือด้านการสอนภาษาไทยกับมหาวิทยาลัย ๕ แห่งในเวียดนาม ได้แก่ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกรุงฮานอย มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์กรุงฮานอย มหาวิทยาลัยภาษาและสารสนเทศศาสตร์นครโฮจิมินห์ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์นครโฮจิมินห์ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติดานัง

5. สังคม

ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน และประชาชนดำเนินไปด้วยดี มีการเดินทางไปมาหาสู่กันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างกันเมื่อปี 2543 นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้จัดตั้งองค์กร/สมาคม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ อาทิ สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม และสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนามด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม
ความสัมพันธ์ทั่วไป
           ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 และ เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงฮานอย และสถานกงสุลใหญ่ที่นครโฮจิมินห์ เมื่อปี 2521 และ 2535 ตามลำดับ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประกอบด้วยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ปัจจุบันนายกิติพงษ์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย (ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2549)ในส่วนของเวียดนาม ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทยเมื่อปี 2521 มี นายเหวียน ซุย ฮึง (Nguyen Duy Hung) เป็นเอกอัครราชทูตฯ (ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2549) สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - เวียดนามในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดี ไม่มีปัญหาสำคัญค้างคา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำความตกลงรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างกันรวมแล้วกว่า 40 ฉบับ
กรอบความร่วมมือ
                  ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้วางกลไกสำหรับดูแลความสัมพันธ์ในหลายระดับ ในระดับสูงสุดมีกรอบการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ซึ่งในการประชุม JCR ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2547 ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนารมณ์ใน “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยกรอบความร่วมมือไทย - เวียดนาม ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21” (Joint Statement on the Thailand - Vietnam Cooperation Framework in the First Decade of the 21st Century) ระบุให้มีการเพิ่มพูนความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน และตกลงให้จัดตั้งกลไกการหารือร่วม (Joint Consultative Mechanism : JCM) เพื่อให้เป็นกลไกในระดับรองจาก JCR และทำหน้าที่ดูแล ประสานความร่วมมือในภาพรวมแทนคณะกรรมาธิการร่วมไทย - เวียดนาม (Joint Commission : JC)
                ในด้านการเมืองและความมั่นคง มีความร่วมมือและประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีกรอบการประชุมคณะ ทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation : JWG on PSC) เป็นกลไกสำคัญ
ความร่วมมือด้านการค้า
             เป็นสาขาที่มีความก้าวหน้ามาก ดังเห็นได้จากการที่สองฝ่ายตั้งเป้าหมายใน
“แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยกรอบความร่วมมือไทย - เวียดนาม ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21” เมื่อต้นปี 2547 ที่จะให้มูลค่าการค้ารวมเพิ่มจาก 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2553 ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ในปี 2548 เร็วกว่าที่กำหนดถึง 5 ปี ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะเพิ่มมูลค่าการค้ารวมให้ได้ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2553
ไทยมีความร่วมมือกับเวียดนามในด้านการค้าข้าวโดยผ่านสภาความร่วมมือค้าข้าว (Council on Rice Trade Cooperation) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน นอกจากนี้ ไทยแสดงท่าทีสนับสนุนเวียดนามให้เข้าร่วมในความร่วมมือด้านยางพาราสามฝ่าย (ไทย - มาเลเซีย - อินโดนีเซีย) เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้ส่งออกยางพาราที่สำคัญรายหนึ่ง
ไทย - เวียดนามมีกรอบการประชุมคณะอนุกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade Commission : JTC) จัดตั้งเมื่อปี 2538 มีอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย
ความร่วมมือด้านการลงทุน
ไทยลงทุนในเวียดนามสูงเป็นอันดับที่ 12 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม มีโครงการต่าง ๆ รวม 153 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (กรกฎาคม 2550) แหล่งใหญ่ที่สุดที่เอกชนไทยไปลงทุนคือที่นครโฮจิมินห์และจังหวัดข้างเคียง ในสาขาสำคัญ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลาสติก ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้สาขาการลงทุนที่มีความน่าสนใจได้แก่ ภาคบริการ ซึ่งไทยมีประสบการณ์และเวียดนามมีความต้องการด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกมากเมื่อเข้า WTO และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ด้านวิชาการสังคมและวัฒนธรรม
           ไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับเวียดนามตั้งแต่ปี 2535 ผ่านกรอบการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย - เวียดนาม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนการสอนภาษาระหว่างกัน โดยไทยได้รับความร่วมมือในการเปิดหลักสูตรสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย 5 แห่งของเวียดนาม ขณะที่เวียดนามสนับสนุนงบประมาณ 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงเรียนสอนภาษาเวียดนามที่จังหวัดนครพนม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานสาขาต่างๆ ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
            เวียดนามให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาหมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม ที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เคยพำนักในช่วงกอบกู้เอกราช ขณะนี้ไทย - เวียดนามร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านดังกล่าวให้เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของการฉลองครบรอบ 30 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยได้จัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อสร้าง “ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์” ภายในหมู่บ้านดังกล่าวสำหรับเผยแพร่ความรู้ด้านความสัมพันธ์และ
ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของสองประเทศเพื่อเป็นการ “ต่อยอด” โครงการหมู่บ้านมิตรภาพฯ
            ระดับท้องถิ่นก็มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนซึ่งขณะนี้เครือข่ายเส้นทางคมนาคมสายต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไทย - เวียดนามได้รับการพัฒนาไปมาก เช่น เส้นทางหมายเลข 9 ตามโครงการ EWEC จากมุกดาหารไปสะหวันนะเขตถึงเมืองเว้ในเวียดนาม (สะพานมิตรภาพ 2 เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549) เส้นทางหมายเลข 8 จากจังหวัดนครพนมผ่านแขวงคำม่วนไปยังเมืองวิงห์ในเวียดนาม และเส้นทางด้านใต้ เริ่มจากกรุงเทพฯ - อรัญประเทศ - เสียมราฐ - พนมเปญ - โฮจิมินห์ ซึ่งเส้นทางหลักทั้ง 3 จะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนของไทย - ลาว - กัมพูชา - เวียดนามในการติดต่อไปมาหาสู่และค้าขายกันการแลกเปลี่ยนการเยือนล่าสุด
            นายกรัฐมนตรีได้เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 และต่อมานายเหวียน เติน ซุง นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2549 ภายหลังร่วมพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในการเยือนดังกล่าวมีการหารือในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณาโครงการเพื่อ “ต่อยอด” โครงการพัฒนาเส้นทาง East - West Economic Corridor (EWEC) ที่มีสะพานมิตรภาพ 2 เป็นตัวเชื่อมโยง การเพิ่มบทบาทไทย - เวียดนามเพื่อร่วมกันพัฒนาอนุภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือด้านข้าวสำหรับประเทศในกลุ่ม ACMECS (ยุทธศาสตร์ความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง : Ayeyawady – Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) การขอให้เวียดนามผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนสำหรับเอกชนไทย สำหรับในส่วนของเอกสารสำคัญ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ JSEP (Joint Strategy for Economic Partnership) ซึ่งเป็นเอกสารรายงาน
ผลการศึกษาวิจัย “จุดแข็ง” และเปรียบเทียบศักยภาพของทั้งสองประเทศ เพื่อเสนอแนะแนวทางและโครงการให้แก่ภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการรับรองเอกสาร Security Outlook ซึ่งเป็นเอกสารแสดงมุมมองด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศเพื่อวางแนวทางการร่วมมือกันรับมือกับปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต
ความตกลงไทย - เวียดนามที่สำคัญ
1. ความตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - เวียดนาม ลงนามเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2534
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ลงนามเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2534
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการผลิตและส่งออกข้าว ลงนามเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2535
4. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535
5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ลงนามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2537
6. ความตกลงทางด้านวัฒนธรรม ลงนามเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539
7. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ และอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา ลงนามเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2540
8. ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยและเวียดนามในอ่าวไทย ลงนามเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2540
9. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านกฎหมายและการศาล ลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541
10. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น ลงนามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541
11. บันทึกความเข้าใจระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือเวียดนามว่าด้วยการลาดตระเวนร่วมและการจัดตั้งโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ลงนามเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2542
12. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2543
13. บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานส่งเสริมการลงทุนกับกระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม ว่าด้วยการลงทุนไทย - เวียดนาม ลงนามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2546
14. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ลงนามเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2546
15. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
16. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
17. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
18. แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยกรอบความร่วมมือไทย - เวียดนามในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ลงนามเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547
19. ความตกลงว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
20. กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
21. แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งทางถนน ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
22. ความตกลงย่อยว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547
23. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับใช้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547

 

 หากคุณเคยมีภาพของประเทศเวียดนามในอดีตจากความรู้สึกเก่าๆหรือภาพที่ยังติดมากับภาพยนตร์สงครามที่มองประเทศเวียดนามที่เป็นประเทศล้าหลัง ประเทศเวียดนามในวันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกว่าที่หลายคนคิด บ้านเมืองที่สงบผู้คนที่มีรอยยิ้มและเต็มไปด้วยความหวังจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และนี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำเสนอให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเวียดนาม
การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
           เวียดนามเป็นสังคมเกษตรกรรมโดยประชากรกว่า*56.8% อยู่ในภาคเกษตร การเปิดประเทศทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปมาก โดยคนรุ่นใหม่มีการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อทำงานเพื่อทำงาน(*ประชากร 37% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม 6.2% อยู่ในภาคบริการ) มีความต้องการที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ให้ความสำคัญกับการลงทุนในตลาดหุ้น ชอบการแข่งขัน กระตือรือร้น ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เนื่องจากจะเป็นพื้นฐานในการหางานในบริษัทต่างชาติซึ่งจะได้เงินเดือนที่ดี โดยอาจเรียนกันถึงปริญญาโทหรือเรียนกันคนละ 2 ปริญญา ซึ่งคนจำนวนมากจะใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อเรียนหนังสือ และสำหรับพ่อแม่รุ่นใหม่จะให้ความสำคัญและลงทุนกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยหากมีฐานะจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมประกอบกับโอกาสในการหารายได้ที่มากขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น คนทานอาหารนอกบ้านกันมาก มีการแยกแกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และมีความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยรายประมาณ 70% จะถูกใช้ไปกับการอุปโภคบริโภค ในเมืองใหญ่การซื้อสินค้าต่างๆจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการซื้อของในตลาดสดเป็นตลาดในซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้นมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น มีแบรนด์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยต่างๆ เช่น สินค้าไอทีอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อาจกล่าวได้ว่ามีความทันสมัยไม่แพ้ประเทศเราเช่นกัน
          สภาพบ้านเมืองในเมืองใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีต โดยมีสำนักงานขนาดใหญ่ที่ทันสมัยเกิดมากขึ้นเรื่อยๆโรงแรมที่ทันสมัย ร้านค้าต่างๆ
ในเรื่องของความยากจนในส่วนอื่นๆของประเทศเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดระดับความยากจน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ โดนสามารถลดระดับความยากจนจากร้อยละ 60 ในปี 1990 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 18 ในปี 2004ซึ่งเป็นที่ยอมรับของUNDP
การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครอง
          การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่สำคัญในส่วนของการเมือง คือ เวียดนาม ได้มีความพยายามอย่างแข่งขัน ในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดนเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาทั้งยังมีความใกล้ชิดในกลุ่มอาเซียน และคาดหวังว่าความสัมพันธ์กับประเทศจีน ประเทศในกลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีจะพัฒนาไปในทางที่ดี รวมทั้งความสัมพันธ์กับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน
ในภาพรวม ผู้บริหารประเทศในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ นายกรัฐมนตรี เหงียน ตัน ดุ่ง (Ngouyen Tan Dung) วัย 56 ปี ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปิดกว้างให้กับเศรษฐกิจระบบทุนนิยม โดยใช้เป็นระบบขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณของการเปิดกว้างรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในส่วนของการเมืองในปัจจุบัน ต้องถือว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงการลงทุนไปจากประเทศไทย
แนวโน้มการเมืองในอนาคต
          เมื่อพิจารณาไปในอนาคตแล้ว การเมืองของเวียดนามถือว่ามีความมั่นคงเป็นอย่างมาก และนโยบายต่างๆได้มีการพัฒนาปรับปรุงในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆโดยส่วนหนึ่งจะได้จากการศึกษาข้อดีข้อเสีย แนวทางในการดำเนินงานของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย ประเทศจีน เป็นต้น และการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามผู้นำปัจจุบันจะยังคงมีอายุในการดำรงตำแหน่งเหลืออีกอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ในความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ
  การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ
          ในส่วนของเศรษฐกิจในประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ประเทศเวียดนามเคยประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร เช่น ข้าว และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจได้เพียง 2 ปี เวียดนามสามารถผลิตอาหารต่อความต้องการภายในประเทศ ปละหลังจาก 4 ปี เวียดนามได้กลายเป็นผู้ส่งอกข้าวอันดับ 2 รองจากประเทศไทยซึ่งที่จริงแล้วผลผลิตมีมากกว่าไทยแต่มีการบริโภคในประเทศมากกว่า รวมตัวเลขของการลงทุนจากต่างประเทศที่สูงกว่าประเทศไทย (เฉพาะปี 2006 เวียดนาม*10.2 พันล้าน USD ไทยประมาณ 9.5 พันล้านUSD)
           ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามวัดจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในปี 2006 มีมูลค่า 60.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (อยู่อับดับที่ 59 ของไทย) หรือประมาณ 1 ใน 4 ของไทย (ไทยประมาณ 223 พันล้านเหรียญสหรัฐ (อยู่อันดับ 36 ของโลก) แต่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้านความเป็นอยู่อาศัยของประชากร เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจน โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2006 อยู่ในระดับต่ำเพียง *721 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ประมาณ 2,659 เหรียญสหรัฐ แต่รายได้มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ รวมถึงเงินบางส่วนที่ส่งมากจากญาติในต่างประเทศ ทำให้โดยรวมชาวเวียดนามมีกำลังซื้อที่ดีพอควร โดยเวียดนามคาดว่า ภายในปี 2010 เวียดนามจะหลุดจากรายชื่อประเทศด้อยพัฒนา และจะมีบทบาทมากขึ้นในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน และจะพัฒนาตัวเองเป็นประเทศอุตสาหกรรมในอนาคตซึ่งมีแนวโน้วที่เป็นไปได้ เนื่องจากมีทรัพยากรที่ค่อยข้างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันเริ่มมีหลายประเทศที่เตรียมย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม
มุมมองต่อเศรษฐกิจเวียดนาม
          เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกมองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชียรองจากประเทศจีนและอินเดีย หรือหลายคนมองเวียดนามเป็นมังกรน้อยที่มีศักยภาพในการเติบโตตามประเทศจีนต่อไปในอนาคต หลังการเปิดประเทศและการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือWTO ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 150 ประเทศ จะเป็นการเปิดประเทศสู่การค้าโลกและเปิดรับระบบทุนนิยมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม มาจากการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกวัตถุดิบ (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) สิ่งทอ เครื่องหนัง และสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาของภาคบริการ การท่องเที่ยว เวียดนามสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมาก โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยอัตราเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในอัตราเฉลี่ยปีล่ะ 7-8 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศจีน โดยในปี 2005 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) สูงถึง 8.43 % และในปี 2006 สูงถึง 8.17 % หรือคิดเป็นมูลค่า60.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2007 และ 2008 เวียดนามได้คาดการณ์ตัวเลขGDPอยู่ที่ประมาณ 8 % ในขณะที่ประเทศอื่นๆในเอเชีย World Bank ได้ประมาณไว้ว่าประเทศไทย 4.3 – 4.5 % , มาเลเซีย 5.6 – 5.8 % , อินโดนีเซีย 6.3 – 6.5 % , ฟิลิปปินส์ 5.6 – 6.0%
ตลาดเงินและตลาดทุน
         State Bank of Vietnam หรือธนาคารกลางของเวียดนามเป็นหน่อยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินต่างๆกำหนดนโยบายการเงิน รวมถึงการจัดหาทุนให้รัฐบาลและเป็นแหล่งเงินกู้ให้สถาบันการเงินต่างๆในเวียดนาม
ตลาดเงินและระบบธนาคาร
        ระบบธนาคารของเวียดนามมีการเติบโตที่ดีในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบเครือข่าย การระดมเงินทุน และการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ระบบการชำระเงินค่าสินค้าหรือการซื้อขายในการทำธุรกิจยังเป็นเงินสด หรือต้องใช้การโอนเงินเข้าบัญชี โดยยังไม่มีระบบการใช้เช็ค แต่หากเป็นการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการสามารถเปิด L/C (Letter of Credit) ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาลหรือเอกชน และสาขาธนาคารต่างประเทศได้
โดยธนาคารในเวียดนามแบ่งออกเป็น4ประเภท
1. ธนาคารดั้งเดิมของรัฐบาล State-owned Commercial Banks มี 4 แห่งและมีขอบเขตการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ
• Bank for Foreign Trade of Vietnam (Vietcombank) ดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ
• Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) อำนวยสินเชื่อระยะยาวแก่โครงการลงทุนต่างๆในเวียดนาม
• Industrial and Commercial Bank of Vietnam (Incombank) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าในประเทศ
• Vietnam Bank For Agriculture and Rural Development (VBARD หรือ Agribank) รับผิดชอบด้านกิจการเกษตร ประมง และป่าไม้
โดยธนาคารทั้ง 4 ประเภทข้างต้นเป็นธนาคารที่มีส่วนแบ่งในตลาดสินเชื่อสูงสุดในปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ให้แก่รัฐวิสาหกิจของรัฐเป็นหลัก โดยธนาคารของรัฐอีกแห่ง คือ Housing Bank for Mekong Delta
2. ธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็ก Joint – stock Commercial Banks (คล้ายบริษัทเงินทุนของไทย) โดย Saigon – Thuong Tin (Sacom-bank) เป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ รองลงมาคือ Asia Commercial Bank (ACB) นอกจากนี้ ได้แก่ Dong A (EAB), Phuong Nam (PNB), Technical and Commerail Bank (Technobank), Military Bank (MB) และ Vietnam International Bank (VIB)
3. ธนาคารร่วมทุน Joint Venture Bank เช่า VID Public Bank ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง BIDV กับ Public Bank Berhad of Malaysia หรือ Vinasiam Bank ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Agribank กับธนาคารไทยพาณิชณ์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์
4. สาขาธนาคารต่างชาติ Foreign Bank Branch เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) โดยเปิดสาขาธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่เปิดดำเนินการในเวียดนามโดยเปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ และต่อมาได้เปิดสาขาย่อยที่ฮานอย ธนาคารอื่นๆ เช่น Deutsche Bank AG, Australia and New Zealand Banking Group (ANZ), Citibank ที่มีสาขาทั้งที่ฮานอยและโฮจิมินห์ United Overseas Bank ของสิงคโปร์และ Hongkong and Shanghai Banking Corp. (HSBC) ที่มีสาขาที่โฮจิมินห์ รวมถึงธนาคารอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่
• Co-operative Credit Institution
• Finance Company
• Finance Leasing Company
ซึ่งสถาบันการเงินเหล่านี้ ในปัจจุบันมีสัดส่วนตลาดในการปล่อยสินเชื่อน้อยมาก
ธุรกิจประกันภัย
เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง โดยปัจจุบันมีขนาดธุรกิจที่ค่อยข้างเล็ก โดย EIU ประเมินว่ามีเบี้ยประกันภายในรวมกัน *10 ล้านล้านด่อง หรือคิดเป็น ประมาณร้อยล่ะ 1.7 ของ GDP เท่านั่น โดยบริษัทประกันภัยที่มี เช่า Vietnam Insurance Corporation, Prudential, HCM City Insurance เป็นต้น
ในส่วนของตลาดทุน
เวียดนามได้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นในปี 2000 โดนในระยะเริ่มต้นมีหลักทรัพย์เพียง 4 แห่งเท่านั่น
ปัจจุบันเวียดนามมีศูนย์ค้าหลักทรัพย์ 2 แห่ง แห่งแรกที่นครโฮจิมินห์ คือ Ho Chi Minh City Securities Trading Center เปิดทำการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2000 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ The State Securities Commission (SSC) ณ ปัจจุบัน(2007) มีมูลค่าตลาด (Market’s Capitalization) รวม 230,474 พันล้านด่อง หรือ 14.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 16,000 dong/USD) มีหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 109 หลักทรัพย์
ศูนย์ค้าหลักทรัพย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่นครฮานอย เปิดดำเนินการเมื่อ 8 มีนาคม 2005 คือ Hanoi Securities Trading Center (HASTC) บริการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 5-30 พันล้านด่อง และมีผลกำไรจากการประกอบการเป็นเวลา 1 ปี มีผู้ถือหุ้นภายนอกอย่างน้อย 50 ราย
        ปัจจุบัน จำนวนบริษัทที่จดทะเยียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีค่อยข้างน้อย เนื่องจากบริษัทเอกชนในเวียดนามมีขนาดเล็กขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชนเพราะกลัวคู่แข่งจะรับรู้ข้อมูลของบริษัท นอกจากนี้การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีความเข้มงวดในเรื่องการเปิดเผลข้อมูล ความโปร่งใส และความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงิน ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ด้วยการลดคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนใหม่ อาทิ การลดทุนจดทะเบียนของบริษัท จากเดิม 10 พันล่านก่อง เป็น 5 พันล้านด่อง และผ่อนคลายเกณฑ์กำไรสุทธิจากเดิมต้องมีกำไร 3 ปี เป็นมีกำไรสุทธิ 2 ปี สำหรับบริษัทเอกชน และมีกำไรสุทธิ 1 ปี สำหรับรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
          สำหรับบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีจำนวนทั้งสิ้น 13 บริษัท ในปี 2005 เช่น Saigon Securities, BIDV Securities ปัญหาสำคัญชองระบบการเงินเวียดนาม คือ สถาบันการเงินท้องถิ่นยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบเดียวกับสากลได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กำลังปรับปรุงพัฒนาทั้งในด้านมาตรการทางการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และตลาดหุ้น รวมทั้งยกเลิกข้อจำกัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขแล้วในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงระบบบัญชี การตรวจสอบ (Audit) และเงื่อนไขการโอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น
การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ล่ะภาค
         ในปี 2006 เวียดนามมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ 60.9พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราการเพิ่มของGDPร้อยล่ะ8.17 เมื่อพิจารณาถึงการเติบโตในแต่ล่ะภาค ทั้งภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การบริการ การเกษตร มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยในปี 2006 ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างขยายตัวร้อยล่ะ 16.5 ภาคบริหารขยายตัวร้อยล่ะ 15.17 และ ภาคเกษตร ประมง ป่าไม้ ขยายตัวร้อยล่ะ 12.46 จากปีก่อนหน้า
           โดยในส่วนของภาคเกษตร ผลผลิตต่างๆ เช่น ชา ยางพารา พริกไทยของเวียดนามมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่า การแปรรูปสัตว์น้ำ (เพิ่มขึ้นร้อยล่ะ 18.6) ชิ้นส่วนรถยนต์ (เพิ่มขึ้นร้อยล่ะ 46.9)
จากการสังเกตโดยทั่วไป ภาคธุรกิจต่างๆทั้งด้านอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน การบริการมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการอุปโภคบริโภคต่างๆมีอยู่มาก และยังมีธุรกิจใหม่ๆที่ยังสมารถสร้างขึ้นได้อีกมากมาย เช่น การเพิ่มของจำนวนโรงแรมเพื่อรองรับชาวต่างชาติ ทั้งจากนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ การเพิ่มของร้านค้าต่างๆซึ่ง ณ ปัจจุบันเวียดนามยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจปลีกอยู่ ซึ่งการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ WTO จากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จะทำให้มีการเติบโตอีกอย่างมากมาย
           นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยต่างๆของประชาชนในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ หรือแม้แต่ของราคาสูงๆ อย่างบ้าน ส่วนใหญ่ยังมีการซื้อในระบบเงินสด แต่เริ่มมีระบบผ่อนชำระบ้างแล้ว ซึ่ง
ในอนาคตเมื่อระบบสินเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง การบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

 

ที่มา OK เนชั่น



00241 โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2009-07-04 16:53:28 v : 4110



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา