ผลการสัมมนา เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย เริ่มด้วยร่วมใจปฏิรูปการศึกษา


      

ผลการสัมมนา เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย เริ่มด้วยร่วมใจปฏิรูปการศึกษา

 

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์) ให้ดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้จัดการประชุมเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย เริ่มด้วยร่วมใจปฏิรูปการศึกษา” ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผุ้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นของการปฏิรูปการศึกษาในระยะที่ผ่านมา และร่วมระดมพลังความคิดกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จ โดยความร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วน รวมทั้งร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวสู่การปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป

          ในการประชุมเสวนาระดมความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้วางแผนการจัดประชุมในทุกภูมิภาคของประเทศและได้ดำเนินการไปแล้วรวม ๔ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ การเสวนาระดมความคิดจากผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลาง วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๒ เวทีภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๓ เวทีภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๔ เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ และครั้งสุดท้ายเวทีภาคกลางและกรุงเทพมหานคร จะจัดในวันที่วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ กิจกรรมการประชุมในภาคเช้าเป็นการบรรยาย และการอภิปรายระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมการเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ส่วนภาคบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นที่มีต่อแต่ละประเด็นหลักของการปฏิรูปการศึกษาใน ๙ ประเด็น ประกอบด้วย ๑) การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ๒) การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ ๓) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา ๔) การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา๕) การผลิตและพัฒนากำลังคน ๖) การเงินเพื่อการศึกษา ๗) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ๘) กฎหมายเพื่อการศึกษา และ ๙) การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุมต่อทั้ง ๙ ประเด็นปฏิรูป

          การประชุมเสวนาทั้ง ๔ ครั้งที่ผ่านมามีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกสังกัดและทุกระดับ/ประเภทการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ผู้บริหารเขต พื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา/สถาบันการศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครูคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษาและนักเรียน ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมประชุมและให้ความคิดเห็นจำนวนประมาณ ๑,๔๐๐ คน มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม ๓๔๐ ฉบับ

          สำนักงานฯ ได้นำข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุมเสวนาทั้ง ๔ เวที รวมทั้งจากแบบสำรวจความคิดเห็น และจากจดหมายจากผู้สนใจ มาประมวลสรุปรวมเป็นข้อคิดเห็นที่มีต่อการปฏิรูปการศึกษาทั้ง ๙ ประเด็น ดังนี้

๑. พัฒนาคุณภาพผู้เรียน

     ๑) ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้จากงานวิจัยใหม่ๆ ให้ครู ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียนรู้ของสมอง การเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน เป็นต้น
     ๒) ควรมีกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการเลี้ยงดู และพัฒนาการของเด็ก เช่น โรงพยาบาล ทุกแห่งต้องมีการนำวีดีโอความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กให้แม่ดูหลังคลอดก่อนกลับบ้าน เป็นต้น
     ๓) ปรับตารางสอนให้ผู้เรียนแต่ละช่วงวัยได้เรียนรู้สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมองและวุฒิภาวะของเด็ก เช่น ช่วงที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ คือ ช่วง ๑๐ นาฬิกา ๑๕ นาฬิกา และสมองจะเรียนรู้ได้ดี ใน ๒๐ นาทีแรกและหลังของแต่ละคาบ เป็นต้น
     ๔) อัตราส่วนครูต่อนักเรียนและนักเรียนต่อห้องเรียนควรเหมาะสม (๑ : ๒๕ – ๓๕ แต่ปัจจุบัน ๑ : ๗ – ๕๐) ดังนั้นควรเร่งเกลี่ยครูให้ได้อย่างจริงจัง
     ๕) พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส
     ๖) หลักสูตร ควรปรับให้เหมาะสม เช่น ป.๑ ควรเน้นภาษาไทยให้อ่านออกเขียนได้ คณิตศาสตร์พื้นฐานที่เด็กควรรู้ และศิลปะ สุขศึกษา เมื่อโตขึ้นจึงค่อยเพิ่มกลุ่มสาระอื่นๆ ให้ครบ ๘ กลุ่มสาระ โดยที่ควรมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงให้มากทุกระดับช่วงชั้นและฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีจิตอาสา มีความกตัญญู เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและวิถีชีวิต เพื่อนำมาใช้ในชีวิตจริงได้
     ๗) ระบบการวัดและประเมินผลต้องสอดคล้องกับสภาพจริงและเป็นแนวทางเดียวกันเพื่อความเป็นมาตรฐาน แต่ยืดหยุ่นให้สามารถเทียบโอนได้ระหว่างการศึกษาทั้ง ๓ ระบบ

๒. การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์

     ๑) มีมาตรการจูงใจ คนเก่ง คนดีมาเรียนครู มีความศรัทธาในวิชาชีพครู โดยประกันการมีงานทำให้กับคนเก่งว่าต้องได้รับการบรรจุแน่นอน และมีทุนให้ผู้เรียนกลับภูมิลำเนา (คุรุทายาท)
     ๒) ปรับหลักสูตรการผลิตครู ให้ได้ครูดี เป็นแบบอย่างคุณธรรมที่พึงประสงค์ เน้นความเข้มของเนื้อหาสาระวิชาเอกกับจิตวิทยาการเรียนรู้ การรู้จักตัวเอง และความเข้าใจผู้อื่น มีความใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ
     ๓) ส่งเสริมให้เครือข่ายครูดีเข้มแข็ง (ครูต้นแบบ ครูแห่งชาติ ครูภูมิปัญญา ดรูดีเด่น ฯลฯ) แม้เกษียณแล้ว เป็นกลุ่มวิชาการที่ปรึกษาให้ผู้จะสำเร็จครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งก่อนสำเร็จหลักสูตรและเมื่อทำงานแล้ว เพื่อการพัฒนาวิทยาการแบบกัลยาณมิตรอย่างต่อเนื่อง
     ๔) ควรมีระบบความช่วยเหลือทางวิชาการโดยความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ และมีระบบติดตามผลเพื่อนำมาพิจารณาเป็นระบบจูงใจให้ทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย
     ๕) การพัฒนาครู ควรทำในช่วงปิดภาคเรียน และควรมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นพี่เลี้ยงและดูผลการอบรมจากผู้เรียนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และผู้ที่มีบทบาทมากที่สุด ได้แก่ ผู้บริหาร ต้องมีระบบติดตาม นิเทศครูในโรงเรียนให้สอนได้อย่างเต็มศักยภาพโดยจัดทำคนทำหน้าที่ธุรการและพัสดุแทนงานเพิ่มที่ครูรับภาระอยู่
     ๖) ปรับระบบการเลื่อนวิทยฐานะครูให้เชื่อมโยงกับสมรรถนะของผู้เรียน โดยเฉพาะผู้บริหารและเขตพื้นที่การศึกษา ควรมีภารกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมกับสถาบันอุดมศึกษาในเขตบริการ และนำผลการพัฒนามาประกอบการเลื่อนวิทยฐานะ
     ๗) ควรมีสถาบันพัฒนาครูทุกกลุ่มสาระเช่นเดียวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โดยมีการติดตาม ช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง

๓. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการศึกษา

     ๑) ควรกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษาให้เต็มรูปแบบ โดยมีระบบติดตามและประเมินที่สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
     ๒) ติดตาม แก้ไขบทบาท อำนาจ อกคศ.ให้มีความโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
     ๓) ส่งเสริมให้ส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง
     ๔) สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น

๔. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

     ๑) กศน.ควรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนการเพิ่มโอกาสการศึกษาให้แก่ประชาชน ทั่วประเทศ โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในระดับพื้นที่
     ๒) ควรมีมาตรการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่/คนทำงาน/ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
     ๓) ควรปรับคุณภาพของสถานศึกษาให้มีมาตรฐานขั้นต่ำใกล้เคียงกัน เพื่อเพิ่มโอกาสเด็กยากจนในชนบท โดยเฉพาะโรงเรียนของสถาบันพระพุทธศาสนาซึ่งตั้งอยู่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่
     ๔) สร้างทัศนคติและเสริมองค์ความรู้ที่จำเป็นให้บุคลากรที่ดำเนินการเพื่อการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มที่มีความต้องการเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถดำเนินการอย่างมีคุณภาพตามเป้าหมาย
     ๕) ส่งเสริมให้มีสื่อ เทคโนโลยี เพื่อการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย

๕. การผลิตและพัฒนากำลังคน

     ๑) ควรวางแผนผลิตกำลังคนให้ตอบสนองทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรม และควรมีการวางแผนการผลิตร่วมกับผู้ใช้
     ๒) เน้นการสร้างคุณภาพผู้สำเร็จด้านอาชีพให้มีความรับผิดชอบ สู้งาน มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นตามความต้องการของสถานประกอบการ
     ๓) ส่งเสริมให้สถานประกอบการร่วมฝึกทักษะให้กับผู้เรียนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีสมรรถนะในสาขาวิชาชีพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

๖. การเงินเพื่อการศึกษา

     ๑) ควรระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนของสังคมมาใช้เพื่อการศึกษา เช่น การนำเงินภาษีล้อเลื่อนของ อบจ. รายได้ของ อปท. หรือเงินบริจาควัดมาสนับสนุนการจัดการศึกษาของท้องถิ่น เป็นต้น
     ๒) การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้กับโรงเรียน ควรจัดสรรให้แตกต่างกันตามความพร้อมและคุณภาพของโรงเรียน
     ๓) ควรปรับโครงสร้างเงินเดือนครู เพื่อจูงใจให้คนเก่ง คนดีมาเป็นครู

๗. เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

     ๑) จัดสื่อการเรียนรู้และเครื่องมือ อุปกรณ์ให้เข้าถึงนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
     ๒) จัดให้มีนวัตกรรมด้านสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เช่น การจัดทำรถอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ในสวนสาธารณะในวันหยุด จัดรถวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์เคลื่อนที่ รวมทั้งกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่างๆ กระจายไปให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค โดยอาจร่วมมือกับ อปท.
     ๓) นำความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามาใช้กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน รวมถึงบทเรียนสำเร็จรูปที่นักเรียนสามารถทบทวนการเรียนได้ด้วยตนเองตลอดเวลา
     ๔) จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนให้แก่ครู เพื่อการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและสามารถสร้างสื่อ CIA ได้อย่างต่อเนื่อง โดยสร้างแรงจูงใจให้ครูผลิตสื่อ เช่น การจดสิทธิบัตร เป็นต้น

๘. กฎหมายเพื่อการศึกษา

     ๑)ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เรื่อง ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในภาพรวมโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการประเมินวิทยฐานะควรดูผลที่คุณภาพผู้เรียนเป็นหลักมากกว่าดูเอกสาร
     ๒) ควรมีกฎหมายเพื่อการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ
     ๓) ควรปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับนม การประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา เป็นต้น
๙. การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
     ๑) ควรให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษารอบนี้
     ๒) ปรับปรุง กฎ ระเบียบ ให้เอื้อต่อการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน
     ๓) ควรนำรูปแบบ วิธีคิด วิธีการแก้ปัญหาที่เป็นประสบการณ์ตรงและเกิดขึ้นจริงของคนในชุมชน/ครูภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้านที่เรียนรู้จากของจริงมาแลกเปลี่ยน สรุป สังเคราะห์เป็นแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาที่ควรเร่งดำเนินการ

          เพื่อให้ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาทั้ง ๙ ประเด็น เกิดผลในการขับเคลื่อนสอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในเวทีประชุมเสวนาทั้ง ๔ ครั้ง สำนักงานฯ ได้ทำการสำรวจความเห็นผู้เข้าร่วมการประชุมต่อประเด็นการปฏิรูปการศึกษาที่ควรเร่งดำเนินการใน ๙ ประเด็นดังกล่าว พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมได้จัดลำดับความสำคัญจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ดังนี้
     ๑. การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
     ๒. การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์
     ๓. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา 

 ที่มา http://www.thaiteacher.org/cms/contentview.php?contentID=CNT0000759



00231 โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2009-06-27 21:57:40 v : 2435



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา