อาหารกับอารมณ์


อาหารกับอารมณ์

สถิติที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เราเห็นชัดเจนว่า จำนวนนักโทษที่ถูกคุมขังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ต่างก็พยายามค้นหายุทธวิธีที่จะลดจำนวนผู้ประพฤติมิชอบเหล่านี้ เช่น นักการเมืองหรือนักปกครองบางคนก็เชื่อว่า มาตรการที่เข้มงวดและบทลงโทษที่หนักคือ มาตรการหนึ่งที่จะลดจำนวนอันธพาลหรือฆาตกรได้ คือ ใครผิดก็ต้องถูกจับ ใครฆ่าก็ต้องถูกประหาร เป็นต้น แต่ถ้าเราจะถามหาสาเหตุว่า อะไรทำให้คนประพฤติผิด เราก็จะได้คำตอบที่หลากหลายเช่น พันธุกรรมหรือสันดาน เพราะได้มีการสำรวจพบว่าฆาตกรมักเป็นสมาชิกของครอบครัวที่แตกสลาย หรือคนที่ขโมยเพราะคนนั้นขาดความอบอุ่นที่สมควรจะได้จากพ่อแม่หรือความยากจนทำให้เขาต้องวิ่งราว เป็นต้น

แต่ ณ วันนี้ มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้คนมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำนองนั้นคือ การได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพไม่ดีพอ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า ถ้าคนเราได้บริโภควิตามิน สารอาหารเช่น เกลือแร่ ไขมัน แป้ง ฯลฯ อย่างถูกสุขลักษณะและสัดส่วน เหตุการณ์ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ซึ่งได้แก่ โจรกรรม ฆาตกรรมและมิจฉากรรมต่างๆ จะลดลงทันที

แนวคิดนี้ได้รับการแย้งค้านจากบุคคลหลายคน ที่ไม่เชื่อ นักวิทยาศาสตร์หลายคนปรารภว่า ถ้าความคิดนี้ถูกต้อง นั่นก็หมายความว่า โครงการจัดระเบียบสังคมต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทุ่มเทเงินงบประมาณไปเพื่อแก้ไขสังคม ประสบความล้มเหลวและสูญเปล่า แต่ถ้าความคิดเรื่องอิทธิพลของอาหารต่อพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องที่มีเหตุผล เราก็จะมีวิธีการลดอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ

ในมุมมองของคนทั่วไป อาชญากรหรือฆาตกรเป็นบุคคลที่มีปัญหาด้านบุคลิกภาพและจิตใจ หาใช่คนที่บริโภคอาหารชนิดที่ไร้คุณภาพ

แต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 B. Gesch นักโภชนาการชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากองค์การ Natural Justice ให้เข้าไปศึกษาอิทธิพลของอาหารต่ออุปนิสัยใจคอของนักโทษในเรือนจำ ทั้งนี้เพราะ Gesch มีความเชื่อว่า ถ้านักโทษวัยเยาว์ได้บริโภคอาหารดี มีคุณค่าอย่างสม่ำเสมอแล้ว นิสัยชั่วร้ายต่างๆ ของยุวนักโทษจะหายไป และในที่สุดยุวชนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพลเมืองดีศรีสังคมต่อไป

การทดลองที่นาน 9 เดือน และใช้นักโทษ 231 คน ซึ่งถูกคุมขังในคุกที่เมือง Aylesbury ในอังกฤษ โดยให้ผู้คุมนักโทษรายงานพฤติกรรมของคนเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน ทำให้ Gesch พบว่า ในการให้อาหารประเภทวิตามิน A, D, B1, B2, B6, B12, C, E และเกลือแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งไขมันอย่างอุดมสมบูรณ์ ในรูปของยาเม็ดแก่นักโทษบางคน และให้ยาเม็ดที่ไม่มีสารอาหารอะไรเลยแก่นักโทษบางคน โดยทั้งนักโทษและผู้คุมไม่รู้เลยแม้แต่น้อยว่า ใครได้ยาจริงใครได้ยาปลอม ผลปรากฏว่า นักโทษ 60 คน ขอลาออกจากการเป็นหนูตะเภา

เพราะบางคนได้รับเสรีภาพ บางคนก็ถูกย้ายไปถูกคุมขังที่เรือนจำอื่น และในที่สุด Gesch ก็ได้พบว่า นักโทษที่บริโภคยาเม็ดที่มีสารอาหารบริบูรณ์มีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่านักโทษที่ไม่ได้รับสารอาหารถึง 37% และเมื่อการทดลองสิ้นสุดลง พฤติกรรมสามหาวของนักโทษทุกคนก็กลับสู่สภาพเดิม

เมื่อรายงานการวิจัยของ Gesch ปรากฏในวารสาร British Journal of Psychiatry ฉบับที่ 181 หน้า 23 ปี 2545 องค์กร Natural Justice ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางสื่อมวลชนว่า การบริโภคอาหารเลวๆ ทำให้คนมีอารมณ์ชังและนิสัยร้าย

ถึงกระนั้นงานวิจัยนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ 100% เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า การใช้เรือนจำเป็นสถานทดลองเป็นการบีบบังคับให้นักโทษทุกคนมีสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกัน แต่โลกภายนอกหรือโลกของคนทั่วไป สภาพแวดล้อมจะแตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่า อาหารมีอิทธิพลต่ออารมณ์จริง นอกจากนี้นักจิตวิทยาหลายคน ก็ได้แสดงหลักฐานให้เราเห็นว่า ครอบครัวที่มีฐานะดี และมีการบริโภคอาหารอุดมสมบูรณ์ บางครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นฆาตกรก็มี ดังนั้น การที่จะสรุปว่าอาหารที่ไร้คุณค่า ทำให้คนมีนิสัยเลวนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง

ถึงความเห็นเกี่ยวกับการทดลองนี้ จะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็ยอมรับว่า งานวิจัยที่หาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับอารมณ์ที่ Aylesbury นี้เป็นงานวิจัยบุกเบิกที่ควรได้รับการวิจัยศึกษามากขึ้น

ความจริงงานวิจัยของ Gesch เรื่องนี้ได้รับการปฏิเสธไม่ให้ลงพิมพ์ในวารสาร Nature อันเป็นวารสารชั้นนำสุดของโลก ทั้งนี้เพราะกองบรรณาธิการของวารสารมีความเห็นว่า งานวิจัยนี้เป็นการสำรวจทางจิตวิทยา ที่ไม่มีหลักฐานทางชีววิทยาสนับสนุน เช่นว่าอาหารทำให้เซลล์สมองส่วนใดเปลี่ยนแปลง และนี่คือปริศนาใหญ่ที่นักวิจัยเรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบให้นักโภชนาการเองก็ได้ยอมรับว่า วิทยาการด้านโภชนศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า อาหารเช่น กรดไขมัน หรือโปรตีน ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน serotonin ที่มีส่วนทำให้จิตใจรู้สึกเป็นสุขอย่างไร หรือวิตามิน B6 ช่วยในการสังเคราะห์กรด amino ในร่างกายอย่างไร เป็นต้น

และถึงแม้ Gesch จะยืนยันว่า การกินอาหารที่มีคุณค่าทำให้นักโทษลดพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนั้น ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ถ้านักเรียนได้บริโภคอาหารดีๆ เด็กนักเรียนก็จะมีนิสัยดีได้เช่นกัน การทดลองของเขาก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ โดยคนทุกคนหลายคนคิดว่า ตัวเลข 20% ที่ปรากฏชัดว่า คนคนนั้นมีนิสัยดีขึ้น เป็นสถิติที่ไม่สูงพอหลายคนแย้งว่า สาเหตุการเป็นอาชญากรต่างๆ เกิดจากความยากจน และการมีฐานะด้อยทำให้คนบริโภคอาหารเลว ดังนั้น ความยากจนจึงน่าจะเป็นต้นเหตุหลักในการทำให้คนเป็นอาชญากร นักสิทธิมนุษยชนบางคนอ้างว่า การที่ Gesch บังคับให้นักโทษบางคนกินวิตามิน B6 นั้น ถ้าเขาบริโภคเกินความต้องการของร่างกาย ระบบประสาทเขาจะถูกทำลาย และถ้าให้นักโทษบริโภคแต่อาหารดีๆ เพื่อละลายพฤติกรรมรุนแรง รัฐบาลก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณสูงมาก และเมื่อหลักฐานที่สนับสนุนการทดลองเรื่องนี้ยังไม่ปรากฏชัด รัฐบาลจึงไม่ได้นำผลการวิจัยของ Gesch ไปดำเนินการแต่อย่างใด

แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับสัตว์นั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนว่า การเปลี่ยนชนิดของอาหารที่สัตว์บริโภค มีอิทธิพลต่ออุปนิสัยใจคอของสัตว์จริง ดังเช่นที่ R. Wurtman แห่ง MLT ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เคยทดลองโดยใช้หนูตะเภา เมื่อ 30 ปีก่อนนี้ และได้พบว่า อาหารมีอิทธิพลต่อการผลิตฮอร์โมน serotonin, dopamine, norepinephrine, acetylcholine, histamine และ glycine ในสมองสัตว์ เพราะสมองจะผลิตฮอร์โมนเหล่านี้ ก็ต่อเมื่อร่างกายได้อาหารเช่น ถ้ามีฮอร์โมน serotonin ร่างกายต้องมีกรด amino ชนิด tryptophan ก่อน ซึ่งจะได้จากโปรตีน ดังนั้น การมีโปรตีนมากจะทำให้ร่างกายผลิต serotonin ได้มาก ซึ่งจะมีผลทำให้สัตว์นอนหลับได้ดี และรู้สึกเป็นสุข นั่นคือ การกินโปรตีนบริบูรณ์ทำให้สัตว์เป็นสุข

แต่ในกรณีของคน ซึ่งเป็นระบบทางชีววิทยาที่ซับซ้อนและควบคุมได้ยาก อิทธิพลของอาหารต่ออุปนิสัยใจคอ ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดได้ชัดเจน เพราะเราไม่มีเกณฑ์วัดอุปนิสัยเหมือนกับที่เราวัดอาการง่วงในสัตว์

ถึงกระนั้น คนหลายคนก็ยังมีความต้องการลึกๆ ว่า หากเราสามารถควบคุมนิสัยคนได้ โดยการบริโภคอาหารก็จะเป็นเรื่องดี แต่นั่นก็จะสร้างปัญหาต่อไปอีกว่า อาหารควบคุมอารมณ์อย่างไร และในแง่กฎหมาย หากมีคนทำผิดกฎหมายแล้วอ้างว่า ผมกินอาหารเลว ศาลจะลดโทษครึ่งหนึ่งหรือไม่


ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

ที่มา http://www.ipst.ac.th/thaiversion/publications/in_sci/psychology.shtml



00227 โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2009-06-27 15:43:59 v : 2664



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา