สาเหตของ "การฆ่า"


สาเหตของ "การฆ่า"

           ตำนานของชาวโรมันมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งสงคราม (Mars) ว่า พระองค์ทรงมีโอรสแฝด 2 องค์ คือ Romulus และ Remus แต่พระมารดาของโอรสทั้งสองได้นำบุตรของตนไปทิ้งในป่า ดังนั้น แทนที่จะได้พระราชสมบัติและพระราชวัง ทารกทั้งสองกลับได้สุนัขจิ้งจอกเป็นมารดาบุญธรรม ซึ่งก็ได้เลี้ยงดูให้นมและอาหารจนเติบใหญ่ คนทั้งสองจึงได้คิดจะสร้างเมืองใหม่ แต่ก็ตกลงเรื่องสถานที่สร้างไม่ได้ จึงได้ต่อสู้กันและ Romulus ก็ได้สังหารน้องตาย นี่คือเรื่องเล่าเหตุการณ์ฆ่าพี่ฆ่าน้องท้องเดียวกันที่ปรากฏมาจนทุกวันนี้

ไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่มีเหตุการณ์พี่น้องฆ่ากัน โลกมีสัตว์อีกหลายชนิดเช่น ตั๊กแตน ปลวก สุนัขป่า หมู ตัว hyena ที่พี่น้องฆ่ากันเหมือนกัน นักชีววิทยาได้งุนงงสงสัยมานานแล้วว่า เหตุใดสัตว์โลกจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ และเหตุใดพ่อและแม่สัตว์จึงเปิดโอกาสให้ลูกๆ ฆ่ากันเอง เพราะเมื่อสายพันธุ์ของตนถูกทำลายไป โอกาสที่ยีน (gene) ของพ่อแม่จะถูกถ่ายทอดต่อไปก็จะลดลงทันที แต่ถ้าลูกๆ รักกันเช่น พี่รักน้องและน้องรักพี่ โอกาสที่ยีนของพ่อแม่จะยืนยงคู่ฟ้าก็จะมีตลอดไป แต่ในโลกของความจริง เหตุการณ์ฆาตกรรมในตระกูลยังคงมีอยู่ ซึ่งนั่นก็แสดงว่า เหตุการณ์นี้ต้องเป็นเรื่องที่ดีที่ธรรมชาติเห็นงามด้วย

ตามปกติพ่อแม่สัตว์ที่มีลูกหลายๆ ตัว มักรักลูกไม่เท่ากัน ดังนั้น จะให้การดูแลลูกๆ ไม่เหมือนกันหรือเท่าเทียมกัน ในกรณีของนก เรามักจะเห็นอย่างชัดเจนว่า พ่อแม่นกมักวางอาหารใกล้ลูกตัวที่แข็งแรงที่สุด เพื่อลูกตัวนั้นจะได้เติบโตเป็นพ่อนกแม่นกต่อไป แต่เมื่อลูกนกเห็นอาหารต่างตัวก็ต่างหิว ดังนั้น การต่อสู้จะเกิดขึ้น ตัวที่แข็งแรงก็จะจิกกัดจนตัวที่อ่อนแอบาดเจ็บเลือดตก หรือบางครั้งลูกนกที่แข็งแรง ก็จะใช้พลังผลักลูกนกที่อ่อนแอกว่าตกรังตาย เพื่อตนจะได้กินอาหารแต่เพียงผู้เดียว หรือในกรณีตัว hyena ใด เวลาตัวเมียคลอดลูกคราวละ 2 ตัว มันจะคลอดที่ปากหลุม ซึ่งเป็นรูลึกลงไปใต้ดิน จากนั้นลูก hyena ก็จะคลานลงไปในหลุม จนมันมั่นใจว่าจะไม่มีใครมาทำร้ายมัน และพ่อแม่มันก็ไม่สามารถจะมุดเข้าไปได้ เพราะรูหลุมเล็กมาก ตัวแม่ hyena นั้น ตั้งครรภ์นาน ดังนั้น ลูก hyena ที่คลอดใหม่ๆ จะมีฟันที่แหลมคมสมบูรณ์ ซึ่งมันจะใช้ในการต่อสู้กันได้ดีพอ เวลาแม่ hyena ให้นม มันจะต่อสู้แย่งชิงน้ำนม ลูก hyena ที่อ่อนแอจะถูกกีดกันไม่ให้ได้กินนมแม่ จนมันอดอาหารตายหรือถ้ายังไม่ตาย แต่ตามตัวเป็นแผล แผลก็อาจเน่าจนเป็นพิษถึงชีวิตในที่สุด การสังหารกันลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก่อนที่ hyena จะมีอายุได้ 2 เดือน

นักชีววิทยาได้พบว่า การฆ่ากันระหว่างทายาทนี้จะเกิดบ่อย ถ้าทายาททั้งสองของ hyena นั้นเป็นเพศเดียวกัน ดังนั้น เราจะเห็นว่า ทายาทของ hyena ที่เราพบเห็น มักเป็นเพศผู้กับเพศเมีย ส่วนกรณีทายาทที่เป็นเพศเดียวกันนั้น มีน้อย นักชีววิทยาบางคนคิดว่า การที่พี่น้อง hyena ฆ่ากันเองเช่นนี้เป็นเรื่องดี เพราะลูก hyena ตัวใดที่อ่อนแอก็สมควรตาย เพื่อลูกตัวที่แข็งแรงกว่าจะได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น จะได้เติบโตเป็น hyena ที่แข็งแรงสืบพันธุ์ hyena ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2539 L. Frank แห่งมหาวิทยาลัย California ได้เคยรายงานว่า ถ้าเมื่อถึงเวลาหนึ่งที่จำนวน hyena ในฝูงมีมากไป พ่อแม่ hyena ก็จะเข้ามาขัดขวางการต่อสู้ระหว่างลูกตัวเมียของมัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้อัตราส่วนระหว่างตัวผู้ ตัวเมียสมดุลกัน สำหรับการอธิบายสาเหตุการชอบฆ่ากันระหว่างพี่น้องท้องเดียวกันของ hyena นั้น Frank ได้พบว่า ในขณะที่ hyena ยังมีอายุน้อย อวัยวะเพศของตัวเมียมีลักษณะคล้ายกับอวัยวะเพศของตัวผู้มาก และฮอร์โมนในตัว hyena มีส่วนทำให้มันชอบฆ่ากันเอง เพราะฮอร์โมน androgens ที่ hyena มีมากนั้น ได้ส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าวในตัวมัน

นกหลายชนิดเช่น นก booby ซึ่งเป็นนกทะเลชนิดหนึ่ง ก็มีการฆ่าระหว่างพี่-น้องเช่นกัน เพราะในนกชนิดนี้ตัวเมียจะออกไข่หนึ่งใบก่อน แล้วเริ่มฟักไข่ทันที จากนั้นอีก 2-3 วัน มันก็จะออกไข่ใบที่สอง เพราะเหตุว่าไข่ใบแรกได้รับการฟักนานกว่าไขใบหลัง ไข่ใบนี้จะฟักเป็นตัวก่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใบนี้ จึงมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าลูกนกที่ออกจากไข่ใบหลัง ดังนั้น มันจะผลักจะดันลูกนกที่อ่อนแอกว่าออกจากรัง จนกระทั่งลูกนกตัวน้อยอดอาหารและตากแดดจนตายไปต่อหน้าต่อตา นก booby ผู้แม่

ส่วนในกรณีนก egret นั้น นกพ่อแม่กลับสนับสนุนให้นกพี่น้องฆ่ากันเอง เพราะพ่อนกแม่นกจะเป็นตัวตัดสินใจว่า จะฟักไข่ใบใดก่อน และเมื่อใดนกชนิดนี้ตามปกติจะออกไข่คราวละ 3 ใบ ไม่พร้อมกัน โดยจะออกห่างกัน 1-2 วัน ลูกนกหัวปีจึงได้รับการเลี้ยงดูก่อน และจะแข็งแรงกว่าลูกนกสุดท้อง มันจึงได้กินอาหารที่พ่อแม่นกนำมาให้ในรังมากกว่านกน้องๆ และเมื่อนกน้องได้อาหารไม่พอเพียงในที่สุดมันก็จะล้มตายไป ซึ่งนักชีววิทยาได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนี้ว่า ตามปกติพ่อแม่นกจะไม่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงลูกนกทั้ง 3 ตัวได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาอาหารขาดแคลน การที่พี่น้องนกฆ่ากันเอง ก็เท่ากับช่วยลดปัญหาการกินอยู่ของลูกนกได้บ้าง เป็นการช่วยพ่อนกแม่นกให้ไม่ต้องทำงานหนักในการหาอาหารมาเลี้ยงลูก ที่บางตัวก็ไม่แข็งแรงเลย ซึ่งแม้จะหามาให้สักเท่าใด ลูกนกที่ไม่แข็งแรงนี้ ก็ไม่สามารถจะมีชีวิตได้ยืนนาน ด้วยเหตุนี้ร่างกายพ่อแม่นก egret จึงขับฮอร์โมน androgens ออกมาเพื่อควบคุมการเติบโตของไข่และฟักไข่นั้น จนมันมั่นใจว่าลูกนกที่เกิดใหม่จะมีขนาดต่างกัน และมีนิสัยต่อสู้ต่างกัน ทำให้ลูกนกที่อ่อนแอตายไป และลูกนกที่แข็งแรงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพ่อแม่นก และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้พ่อแม่นกไม่เหน็ดเหนื่อยในการบินหาอาหารจำนวนมากมาเลี้ยงลูกของตัวด้วย

นก skua เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่ตามปกติอาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกใต้ บนทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นบริเวณที่หนาวจัด และมีอาหารไม่บริบูรณ์ นกชนิดนี้มีรักเดียวใจเดียวคือมันไม่เปลี่ยนคู่ชีวิตเหมือนนกชนิดอื่น นกตัวเมียมักออกไข่คราวละ 2 ฟอง แต่มันมักจะมีลูกนกเหลือให้เลี้ยงดูเพียงตัวเดียว ทั้งนี้เพราะพอไข่ฟักเป็นตัวลูกนกจะต่อสู้กันเวลาพ่อแม่นกนำอาหารมาให้ นกตัวเล็กกว่าก็จะถูกกีดกันจนอดอาหารตาย หรือไม่ก็ถูกนกตัวใหญ่จิกจนตาย และในบางครั้ง พ่อแม่นกในรังใกล้เคียงก็มาร่วมด้วยช่วยกันฆ่าลูกนกที่อ่อนแอกว่าด้วย และผลที่เกิดขึ้นจากการฆ่าคือ จำนวนผู้สืบสายเลือดของนกลดลง ทำให้ลูกนกตัวที่แข็งแรงมีโอกาสรอดชีวิตสูง นักชีววิทยาได้พบว่า นก skua นี้เป็นนกอำมหิตมาก เพราะถึงแม้อาหารจะมีอุดมสมบูรณ์ แต่การฆ่ากันก็ยังเกิดตลอดเวลา จึงดูเสมือนว่าพฤติกรรมก้าวร้าวระดับรุนแรงนี้อยู่ในยีน (gene) ของมันอย่างไม่มีทางแก้ไข

ในวารสาร Behavioral Ecology and Sociobiology ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ H. Drummond แห่ง Universidad Nacional Autonoma de Mexico ที่ Mexico City ได้รายงานว่าลูกนก booby เมื่อเข้าตาจนและใกล้จะถูกจิกตาย มันจะต่อสู้ป้องกันตัวและก้าวร้าวอย่างลืมตาย ซึ่ง Drummond ได้รายงานว่า เมื่อเขานำลูกนก booby ที่ไม่ค่อยแข็งแรงไปใส่ในรังอีกรังหนึ่ง ที่มีแต่ลูกนกที่แข็งแรงกว่า ลูกนกที่อ่อนแอจะก้าวร้าวมาก โดยจะกรากเข้าจิกลูกนกที่แข็งแรงกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งนั่นก็แสดงว่า เวลาตกอยู่ในสภาพมวยรอง สัตว์จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวทันที

ในการศึกษาพฤติกรรมของลูกนกที่อ่อนแอกว่า Drummond ได้เดินทางไปที่ทะเล Sea of Cortez และได้ไปสังเกตนก booby บนเกาะ Pedro Martir ซึ่งที่นั่นมีนก booby ทั้งสีน้ำตาลและที่มีเท้าสีน้ำเงิน ลูกนก booby เท้าสีน้ำเงินนั้น ตามปกติจะไม่ก้าวร้าว แต่ลูกนก booby สีน้ำตาลจะก้าวร้าวมาก Drummond ได้เอาลูกนก booby สีน้ำตาลใส่ในรังนก booby เท้าสีน้ำเงิน แล้วเอาลูกนกสีน้ำเงินใส่ในรังนกสีน้ำตาล โดยให้ลูกนกที่ถูกนำไปมีอายุน้อยกว่าลูกนกเจ้าของรังประมาณ 5 วัน และเขาได้พบว่า ครั้งหนึ่งของลูกนก booby สีน้ำตาล ทั้งๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าลูกนกเจ้าของรังมาก แต่ก็จิกกัดลูกนกที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างไม่ยอมหยุด ซึ่งแตกต่างจากลูกนก booby เท้าสีน้ำเงินที่ไม่ได้แสดงพฤติกรรมรุนแรง ทั้งนี้เพราะตนอยู่ในสภาพที่ด้อยกำลังกว่า

ครอบครัวคนก็เหมือนกันครับ สมาชิกในครอบครัวก็ต้องขัดแย้งกัน แต่ถ้าจะฆ่ากันเพราะแบ่งมรดก สังคมถือเป็นเรื่องผิดปกติครับ

     ศักดิ์ชัย  ภู่เจริญ

ที่มา http://www.ipst.ac.th/thaiversion/publications/in_sci/homicide.html



00225 โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2009-06-27 15:02:47 v : 2913



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา