ช่วยด้วย! เด็กหนีเรียน


เด็กหนีโรงเรียนช่วยอย่างไร??

 

เด็กหรือลูกหนีโรงเรียนคำนี้เป็นคำที่ทั้งพ่อแม่และครูไม่ปรารถนาจะได้พบ

เพราะวัยของเด็กเป็นวัยที่ต้องศึกษาหาความรู้ แต่เขากลับไม่ไปโรงเรียน
การไม่ไปโรงเรียนในที่นี้ หมายถึง เด็กที่แต่งตัวออกจากบ้านแล้วแต่ไปไม่ถึงโรงเรียน แวะตามสถานที่ต่างๆ เช่น บ้านเพื่อน ร้านวีดิโอเกม ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ ลานสเก็ต ตอนเย็นจะกลับมาถึงบ้านตามเวลาปกติ เด็กบางคนพ่อแม่ไปรับ – ส่งที่โรงเรียนทุกวัน แต่ช่วงระหว่างวันเด็กหนีออกจากโรงเรียนไปแล้ว

 

หรือบางคนไปโรงเรียนตอนเช้า ตอนบ่ายหนีออกจากโรงเรียนไปเที่ยวเตร่ กลับบ้านไม่ตรงเวลา เด็กหนีโรงเรียนมักพบกับเด็กเริ่มโตระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป โดยครูเป็นผู้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะปฏิเสธไม่เชื่อว่าเด็กจะหนีโรงเรียน เด็กไปโรงเรียนตามปกติทุกวัน เป็นคนเรียบร้อย ผลการเรียนค่อนข้างดีหรือใช้ได้ แล้วจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร นอกจากเด็กบางคนที่มีนิสัยไม่รักเรียน หรือมีปัญหาการเรียนมานานแล้ว พ่อแม่จึงจะทำใจได้บ้าง พ่อแม่อาจจะรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ร้องไห้ โกรธลูก โกรธตนเอง อยากจะลงโทษลูกด้วยการดุว่า ตี เป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านจะ รู้สึกเช่นนั้นได้ แต่หลังจากนั้นขอให้ท่านตั้งสติให้มั่น ใช้ความสงบสยบความโกรธ หันกลับมาคิดไตร่ตรองดูว่าเด็กทำเช่นนี้บอกอะไรเราได้บ้าง เกิดอะไรขึ้นกับเด็ก เขาไม่มีความสุขใช่ไหม เขากำลังแสวงหาอะไร หรือกำลังหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเองด้วยการออกไปอยู่ในที่ๆเขาคิดว่าจะพบความสุขมากกว่า โดยไม่รู้หรือไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ถึงตอนนี้พ่อแม่จะต้องหันหน้าปรึกษากันและร่วมมือประสานกับโรงเรียน เพื่อช่วยกันหาสาเหตุ และแนวทางแก้ไข สาเหตุที่มักพบสรุปได้ดังนี้

 

สาเหตุ
  1. ทางร่างกาย
  2. ทางครอบครัว
  3. ทางโรงเรียน ได้แก่ บทเรียน ครู เพื่อน
สาเหตุทางร่างกาย เด็กอาจจะมีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้ขาดเรียนบ่อยๆ ตามบทเรียนไม่ทัน เด็กบางคนอาจมีปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนที่สามารถแก้ไขได้ การแก้ไข พาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ตรวจร่างกายรักษาอย่างจริงจัง บางครั้งอาจจะต้องหยุดพักการเรียนชั่วคราวเป็นระยะเวลานานก็ต้องทำ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมทางร่างกายสุขภาพพลานามัยแข็งแรงพร้อมที่จะเรียน ส่วนปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยินแก้ไขได้โดยการใส่แว่นสายตา ใส่เครื่องช่วยฟัง ในห้องเรียนอาจจะนั่งใกล้ๆครู หรือนั่งใกล้เพื่อนที่พอจะช่วยเหลือได้

 

สาเหตุทางครอบครัว
  1. มีความขัดแย้งภายในครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกัน ทำให้เด็กมีอารมณ์หวั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่สบายใจเครียด เหม่อลอย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิ
  2. เด็กขาดความอบอุ่น พ่อแม่มุ่งแต่ทำงานหาเงินไม่มีเวลาพบหน้าพูดคุยปรึกษากัน
  3. เด็กถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ถูกตำหนิซ้ำเติมตลอดเวลา
  4. พ่อแม่คาดหวังผลการเรียนมากกว่าคำนึงถึงความรู้สึกของเด็ก เช่นเด็กปวดศรีษะ ก็ให้รีบอาบน้ำ ทำการบ้านจะได้มีเวลาอ่านหนังสือ ทั้งๆที่ทราบแล้วว่าเด็กไม่ค่อยสบายแทนที่จะได้พักผ่อนก่อน
  5. มนุษย์สัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวไม่ดี ต่างคนต่างอยู่ ไม่กล้าพูดคุยปรึกษาปัญหา
  6. รักและตามใจเด็กอย่างไร้ขอบเขตโดยไม่ตั้งใจ เด็กจึงชอบความสบาย เอาแต่รักสนุก ขาดวินัยในตนเอง ทำให้เด็กปรับตัวได้ยากเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ
สาเหตุทางโรงเรียน การเรียน
  1. บทเรียนยากขึ้น ระดับความสามารถต่ำ สติปัญญาไม่ค่อยดีค่อนข้างทึบ เรียนชั้นสูงขึ้นวิธีการเรียนเปลี่ยนไป มีวิชาการมากขึ้น การบ้านมากและยาก บางครั้งการสอนของครูไม่น่าสนใจ ทำให้เด็กรู้สึกว่าเรียนยาก เด็กที่ทำงานช้าเข้าใจอะไรช้ากว่าเด็กอื่นจะเบื่อเรียน ไม่สนใจที่ครูสอน หลับบ้าง เล่นบ้าง ไม่ส่งการบ้าน ทำงานไม่เสร็จ ถูกดุตลอดเวลา
  2. ระบบการเรียนการสอนเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่าความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้เด็กรู้สึกล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน
สาเหตุจากครู
  1. ครูคาดหวังว่าสอนแล้วเด็กทุกคนจะเข้าใจ และปฏิบัติได้เหมือนๆกัน เด็กบางคนที่เรียนตามไม่ทันและกลัวครูจะไม่กล้าถาม ถ้าครูไม่ช่วยติดตาม ไม่ช่วยสอนเสริม เด็กจะสะสมความไม่เข้าใจพอกพูนมากขึ้น จนคุกคามการเรียนรู้ใหม่ ในที่สุดเด็กก็เบื่อเรียน
  2. เด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเองจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีความหมาย ครูรักและสนใจเพื่อนที่เรียนเก่ง ประพฤติดี และคอยจับผิดตำหนิว่ากล่าว ประนามหยามเหยียด ลงโทษรุนแรงแก่เด็กที่เรียนไม่ดี มีปัญหาและด้อยความสามารถ ทำให้เด็กได้รับความอับ อาย ไม่กล้าสู้หน้า ต้องหลบไปหาความสุขข้างนอก
  3. ถูกคาดโทษจากการทำงานไม่ทัน ไม่ส่งการบ้าน ไม่ทำตามกฎระเบียบของโรงเรียนเช่น ผมยาว แต่งตัวไม่ถูกต้อง เพื่อน เด็กขัดแย้งกับเพื่อน ถูกเพื่อนแกล้ง เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เป็นต้น
การแก้ไขและช่วยเหลือเด็กหนีโรงเรียน การแก้ไขให้ความช่วยเหลือเด็กที่หนีโรงเรียน ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างครอบครัว กับโรงเรียน เพื่อช่วยกันหาสาเหตุและวางแผนการแก้ไข บางครั้งอาจต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้าน สุขภาพจิตด้วย

 

การแก้ไขช่วยเหลือด้านครอบครัว
  1. พ่อแม่ต้องมีใจเต็มร้อยที่จะช่วยเหลือ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น พูดคุย สอบถามเด็กเพื่อหาสาเหตุ และแสดงการรับรู้ความรู้สึกถึงความทุกข์ ความไม่สบายใจที่เขากำลังประสบปัญหาอยู่ พร้อมที่จะช่วยเหลือเขา ไม่ประนาม ไม่ทับถมเรื่องปัญหาการเรียน การขาดเรียน และผลการเรียน
  2. บอกให้เด็กรับรู้ว่า พ่อแม่รักเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร จะดื้อจะเรียนไม่ดี จะไม่อยากเรียน พ่อแม่ก็ยังคงยินดีที่จะช่วยเหลือร่วมคิดกับเขาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
  3. สนับสนุนให้ความช่วยเหลือจัดสอนซ่อมเสริม (โดยพ่อแม่หรือครูพิเศษ) ในสิ่งที่เด็กตามไม่ทัน หรือมีความต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ
  4. ปรับเปลี่ยนท่าทีการเลี้ยงดูไม่เข้มงวดและตามใจจนเกินไป ให้อยู่ในระดับกลางๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหาโอกาสพูดคุยกับครอบครัวอื่นบ้าง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือปรึกษา จิตแพทย์ นักจิตวิทยาบ้าง อาจช่วยให้ปรับตัวอยู่ในสายกลางได้
  5. วางแผนร่วมกับเด็ก ในกรณีเด็กหนีเรียนมานานแล้ว จนไม่อยากเรียนชอบชีวิตอิสระเที่ยวสนุกไปวันๆ พ่อแม่อาจพูดคุยถึงเป้าหมายในชีวิตต่อรอง ยืดหยุ่นกับเด็กและโรงเรียนพบกันคนละครึ่งทาง เลือกเรียนด้วย และยังสนุกได้ด้วยในวันหยุดหรือตอนเย็นหลังเลิกเรียน หรือถ้าไม่สามารถเรียนในระบบโรงเรียนได้ การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตยังมีทางเลือกอื่นอีก เช่น การศึกษานอกโรงเรียน การเรียนวิชาชีพต่างๆตามที่เด็กถนัด
  6. หาเรื่องชมเชย มองหาความดีชมให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่เขาสามารถทำอะไรที่ดีๆได้ ถ้าหาไม่พบสร้างสถานการณ์ขึ้นมาได้เลย เช่น หยิบน้ำให้คุณยาย รดน้ำต้นไม้
  7. แก้ไขความขัดแย้งในครอบครัว และบอกให้เด็กเข้าใจ
การแก้ไขช่วยเหลือด้านโรงเรียน
  1. ทำโรงเรียนให้มีความสุข ยอมรับเด็กกลับสู่โรงเรียนอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่พูดถึงเรื่องที่ผ่านมา ต้อนรับเด็ก สนใจเด็ก ในกรอบกฎเกณฑ์ของโรงเรียน
  2. เด็กทุกคนอยากเป็นคนดี ดึงศักยภาพที่เด็กมีอยู่ออกมาใช้ เช่น เด็กชอบพูดชอบแสดงออก ให้เป็นคนนำเสนอผลงานของกลุ่มเขาจะภูมิใจที่ตนเองมีส่วนทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ
  3. ปรับการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับความสามารถของเด็ก เช่น เด็กสมาธิสั้น ให้ทำงานทีละน้อย ครูเรียกดูบ่อยๆ เด็กเรียนช้าจัดสอนเสริม ในสิ่งที่เด็กบกพร่องด้วยวิธีการพิเศษที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
  4. เพื่อนช่วยเพื่อน ครูเตรียมเพื่อนที่มีความสามารถและมนุษย์สัมพันธ์ดี ยินดีอาสาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้เพื่อน
  5. หาแหล่งหรือบุคลากรที่เด็กไว้วางใจ ให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กมีความไม่สบายใจสามารถพูดคุยปรึกษาได้ทุกเรื่องและปิดเป็นความลับ เช่นครูแนะแนว ครูประจำชั้น ครูประจำวิชา หรือหน่วยบริการสุขภาพจิตเด็ก
  6. ชมในสิ่งที่เด็กทำดีทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องเรียน การที่เด็กหนีโรงเรียน เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ค้นหาสาเหตุและแก้ไขร่วมมือกันระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน การให้คนรัก ความเข้าใจ อย่างไม่มีเงื่อนไข ให้เวลาอย่างคุ้มค่า วาจาสร้างสรรค์ สัมผัสอบอุ่น จะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
*
นักวิชาการศึกษาพิเศษ ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ที่มา : http://icamtalk.com



00209 โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2009-06-15 22:50:15 v : 3164



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา