แก้วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย


 

โดย ผศ. บรรเทิง ศิลป์สกุลสุข
ภาควิชาเคมี    คณะวิทยาศาสตร์    มหาวิทยาลัยสยาม

บทนำ

huleความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษารอบแรกด้วยงบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนต่ำโดยลำดับ ตลอดเวลาหลายปีของการปฏิรูปการศึกษารอบแรก ยังผลให้มีการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งดำเนินการมาได้ 2 ปี ภายใต้การตื่นตัวจากหลายฝ่าย ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกิดขึ้นจำนวนมาก มีการตั้งกรรมการ และอนุกรรมการขึ้นมากมาย แต่คะแนนเฉลี่ยผลการสอบโอเน็ต ชั้น ม. 6 ปีล่าสุดยังคงต่ำลงอีกจากที่ต่ำอยู่แล้วแทบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษซึ่งคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 20 เป็นครั้งแรก จึงเป็นที่สงสัยว่าเรากำลังดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสองล้มเหลวซ้ำรอยเดิม อยู่หรือไม่?

สาเหตุอันคลุมเครือ

มีคำกล่าวว่า การรู้สาเหตุของปัญหาเท่ากับแก้ปัญหาไปแล้วครึ่งหนึ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการปฏิรูปการศึกษารอบสองก็คือ การหาสาเหตุของปัญหาให้เจอนั่นเอง แม้ว่าตลอดช่วงทศวรรษของการการปฏิรูปการศึกษารอบแรกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนตกต่ำลงตามลำดับโดยตลอด น่าประหลาดใจว่าเราแทบไม่มีงานวิจัยที่ทำขึ้นเพื่อหาสาเหตุการตกต่ำนี้เลย

ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อแก้ปัญหาความเครียดของเด็ก และให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งที่ทำคือ ลดเนื้อหาของวิชาลง ซึ่งเมื่อดำเนินการไป 1-2 ปี ก็กลับพบว่า ความสามารถในเชิงวิชาการของเด็กญี่ปุ่นตกต่ำลง ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาของวิชากลับคืนจากที่ตัดออก ซึ่งเห็นได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีการประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะแก้ไขในทันที ไม่ใช่ประเมินเมื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาครบ 10 ปี

way2ed_dev_04

สาเหตุความล้มเหลวที่หลายๆ ฝ่ายมักฟันธงลงไปก็คือ ครูไม่มีคุณภาพ โดยคิดง่ายๆ ว่า เมื่อผลการเรียนของนักเรียนไม่ดี ก็ต้องมีสาเหตุจากครูสอนไม่ดีหรือครูไม่มีคุณภาพ

จริงอยู่ที่อาจมีครูจำนวนหนึ่งไม่มีคุณภาพ แต่มันไม่สมเหตุผลเลยที่ครูเหล่านี้จะไม่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะเจาะจงในช่วงเวลาของการปฏิรูปการศึกษา แต่เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณ มาตรการต่างๆ ที่ทุ่มเทลงไปในการปฏิรูปการศึกษา เราจะเห็นได้ว่า ผลที่ออกมาคือคุณภาพการศึกษาที่ต่ำลงโดยตลอดชนิดที่สวนทางกัน ลักษณะเช่นนี้อธิบายได้ด้วยสมมุติฐานว่า เรากำลังมีการปฏิรูปการศึกษาที่เดินผิดทิศทาง โดยเดินในทิศทางตรงกันข้ามกับเป้าหมาย นั่นคือยิ่งทำก็จะยิ่งเป็นการทำลายคุณภาพการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายถ้าหากว่า การปฏิรูปการศึกษารอบที่สองจะยังคงเดินผิดทางเช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษารอบแรก โดยคณะผู้ดำเนินการไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาหรือสาเหตุของความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษารอบแรกเลย

ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง "แนวทางแก้วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย" ตอนแรก ขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมีแนวคิดว่าระบบประเมินคุณภาพการศึกษาแบบผิดๆ ภายใต้การปฏิรูปการศึกษารอบแรกเป็นตัวทำลายคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งแม้แนวคิดนี้จะไม่มีงานวิจัยสนับสนุน แต่ก็มีความจริงเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์จากการสอบถาม ครู/อาจารย์ ทั่วประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีบทความที่เสนอแนวคิดทำนองเดียวกันคือ บทความเรื่อง "คำให้การของครู เออร์ลี่รีไทร์" โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน บทความเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ก็น่าจะล้มเหลวเหมือนครั้งที่แล้ว" โดย บุญมี พันธุ์ไทย บทความเรื่อง "การศึกษาไทยจะไปทางไหน?" โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ และบทความเรื่อง "ครูต้องทำหน้าที่สอน" โดย ตุลย์ ณ ราชดำเนิน

way2ed_dev_11เมื่อไม่มีการวิจัยหรือหาสาเหตุของปัญหาด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ การดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสองจึงไม่พ้นไปจากรูปแบบเดิมๆ คือ คิดกันเอง เออกันเองในหมู่นักวิชาการ (ที่ไม่ได้สอน อีกทั้งไม่ยอมลงมาศึกษาการทำงานของครู/อาจารย์ในสถานศึกษาจริง) แล้วมีการฟันธงตามกระแสว่าครูไม่มีคุณภาพ และตามด้วยมาตรการ คำสั่ง นโยบายพัฒนาครูออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอบรมครู การผลิตครูพันธ์ใหม่ การเพิ่มเวลาเรียนหลักสูตรครูจาก 4 ปีเป็น 5 ถึง 6 ปี รวมถึงโครงการใหญ่ลงทุน 2000 กว่าล้าน อย่างโครงการสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ซึ่งโครงการเหล่านี้มีแนวโน้มว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และจะกลายเป็นอนุสาวรีย์หรือถาวรวัตถุที่จะฟ้องถึงความล้มเหลวของกลุ่มผู้คิดต่อไปอีกหลายปี

น่ายินดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชีวะ ได้มีการตระหนักรู้ถึงภาระงานเอกสารที่ครู/อาจารย์ต้องจัดทำขึ้นสำหรับงานประเมินคุณภาพการศึกษาว่า เป็นภาระการประเมินที่มากเกินไป และสมควรลดลง โดยท่านนายกได้สร้างคำสำคัญขึ้นคือคำว่า "ลดภาระการประเมิน" และได้ดำเนินการสองประการคือ หนึ่งได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพการศึกษาทำการลดภาระการประเมิน สองให้มีโครงการคืนครูให้นักเรียน

ทั้งสองเรื่องมีการดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ได้ผลนัก โดยเรื่องแรกมีความคืบหน้าคือเมื่อเดือน กันยายน 2553 หน่วยงาน 3 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกัน โดยจัดระบบการประเมินผลของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นเอกภาพโดยลดความซ้ำซ้อนในการประเมินลง และให้มีการลดตัวบ่งชี้ลงอันจะเป็นการลดภาระการประเมิน แต่อย่างไรก็ตามจนถึงบัดนี้ภาระการจัดเอกสารประกันคุณภาพก็ไม่ได้ลดลงสักเท่าไร เพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ดำเนินการจริงจัง และยังได้ประกาศใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานเอกสารประกันคุณภาพขึ้นมาอีกชุดใหญ่

ส่วนโครงการคืนครูให้นักเรียน ซึ่งเป็นการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการเพื่อช่วยครูทำงานธุรกา รทำให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น แต่เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อยเกินไป (เจ้าหน้าที่ ธุรการ 1 คน ต้องวิ่งลอกปฏิบัติงาน 1-3 โรงเรียน) อัตราการลาออกสูงมากจึงยังช่วยงานอะไรไม่ได้นัก

แม้รัฐบาลจะตระหนักรู้ถึงการ "ลดภาระการประเมิน" แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยเรื่องดังกล่าวไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษารอบสองเลย

child_hope

รูปแบบที่ล้มเหลว

คณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ได้ประกาศเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง 4 ด้าน ดังนี้

  1. มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล
  2. ใฝ่รู้ (สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่านและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง)
  3. ใฝ่ดี (มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ)
  4. คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ (มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร)

โดยมีคำสำคัญคือ เน้นคุณภาพที่ตัวผู้เรียน

ส่วนการปฏิรูปการศึกษารอบแรก มีเป้าหมายที่มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่กับการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีคำสำคัญคือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

way2ed_dev_07เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ทั้งรูปแบบและคำสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาทั้งสองรอบแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย

ดูเหมือนรูปแบบปกติตายตัวของการปฏิรูปการศึกษาจะประกอบด้วย การตั้งคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา ตั้งอนุกรรมการ ตั้งคณะทำงาน ตามด้วยการประชุมสร้างนโยบายแผนงาน และคำสั่ง แล้วส่งไปยังหน่วยใต้บังคับบัญชาเป็นทอดๆ จนไปถึงหน่วยใต้บังคับบัญชา สุดท้ายซึ่งได้แก่สถานศึกษา และผู้ที่รับสนองการทำงานก็คือครู/อาจารย์นั่นเอง โดยไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบ หรือวิเคราะห์การทำงาน (task analysis) เลยว่าครู/อาจารย์แต่ละคนจะต้องใช้เวลาเท่าไรในการจัดทำเอกสาร เพื่อตอบสนองแผนเหล่านั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรงานทำเอกสารอันไม่จบสิ้น ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการเหล่านี้มีการสร้างแผนบูรณาการสำหรับการปฏิรูปการศึกษารอบสองไว้แล้วถึง 44 แผน ซึ่ง ดร. รุ่ง แก้วแดง ได้วิพากษ์ถึงความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษารอบแรกว่าเป็นการทำผิดที่มีเรื่องที่ทำมากเกินไป จนไม่ได้ทำที่หัวใจของการศึกษา

ตรงนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มแล้วแผนบูรณาการทั้ง 44 แผนสำหรับการปฏิรูปการศึกษารอบสองจะกลายเป็นส่วนเรื่องที่ "ทำมากเกินไป" อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้จัดทำไม่ได้มีทีท่าการจะจัดลำดับความสำคัญของแผนได้เลย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าส่วนใหญ่ของแผนจึงเป็นเรื่องไม่เร่งด่วน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเป็นงานประจำธรรมดาได้ โดยไม่ต้องไปยกลำดับความสำคัญให้เป็นแผน

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพื่อขยายความให้เห็นว่าการ "ทำมากเกินไป" โดยไปยกกิจกรรมที่ไม่สำคัญให้กลายเป็นแผนขึ้นมาแล้วจะส่งผลเสียอย่างไร สมมุติว่าแผนทั้ง 44 แผน มีแผนที่สำคัญที่สุดถือเป็น "หัวใจ" และต้องทำก่อนอย่างอื่น 4 แผน ส่วนแผนที่เหลือ 40 แผน เป็นแผนที่ไม่สำคัญ หรือเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นงานประจำอยู่แล้ว ในกรณีที่ผู้บริหารรู้จักแยกแยะลำดับความสำคัญก็จะนำทั้ง 4 แผนที่สำคัญนั้นมาทำก่อน และทุ่มเททรัพยากรให้อย่างเต็มที่ เช่น ให้กำลังคนร้อยละ 80 ของหน่วยงานเข้าทำงานดังกล่าว ให้จัดทำเอกสารรองรับครบตามรูปแบบ PDCA ส่วนอีก 40 แผนที่เหลือก็ลดความสำคัญไม่ต้องทำเป็นแผน ดังนั้นไม่มีการจัดเอกสารรองรับแบบแผน ให้ทำเป็นคำสั่ง และกิจกรรมประจำตามปกติ ใช้กำลังคนร้อยละ 20 ดำเนินงานได้ทั้ง 40 กิจกรรม ลักษณะเช่นนี้งานก็จะสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ถ้าเป็นกรณีผู้บริหารไม่รู้จักแยกแยะลำดับความสำคัญ ทั้ง 44 แผนจะสำคัญเท่ากัน แผนสำคัญที่สุดทั้ง 4 เดิมต้องใช้กำลังคนช่วยทำร้อยละ 80 คราวนี้จะได้รับการจัดกำลังคนให้เพียงร้อยละ (100/44)x4 = 9.1 ของกำลังคนในหน่วยงาน ดังนี้ทำให้แผนสำคัญทั้งสี่ล้มเหลวตามมาด้วย กิจกรรมหรือแผนที่เหลืออีก 40 แผนก็ล้มเหลวตามไปด้วย แต่ข้อสังเกตจากบทเรียนในอดีตคือ เมื่อเนื้องานหลักจริงๆ ทำไม่สำเร็จ แต่เอกสารของแผนทั้ง 44 แผนจะทำสำเร็จโดยได้รับการจัดทำอย่างครบถ้วน นับเป็นการเน้นความสำเร็จของเอกสารโดยแท้ ลักษณะความล้มเหลวดังกล่าวหาได้จำกัดวงอยู่เฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการไม่ แต่ได้รับการส่งต่อ และขยายผลไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งรับแผน และนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการอีกทีหนึ่ง ส่งผลให้ครู/อาจารย์ทำงานล้มเหลวในงานหลักคือ งานสอนและงานวิจัย เพราะมัวแต่ไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งผลสุดท้ายก็ได้แต่งานเอกสารที่ครบถ้วนดูดีเช่นเดียวกับหน่วยงานต้นทาง

ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงประกอบจากการประกาศของ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ว่า จะใช้จุดเน้นคุณภาพผู้เรียนในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง สิ่งที่ กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการคือ ได้ระบุคุณลักษณะต่างๆ ที่ต้องการของผู้เรียนแล้ว สุดท้ายก็กำหนดให้สถานศึกษา (ซึ่งได้แก่ ครู/อาจารย์) จัดทำสิ่งต่อไปนี้

  1. จัดทำฐานข้อมูลผู้เรียน โรงเรียนตามจุดเน้น
  2. ศึกษาบริบทใน/นอกโรงเรียนเพื่อจัดทำแหล่งเรียนรู้ (สถานที่/บุคคล)
  3. ปรับ/ออกแบบตารางเรียน จัดการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนตามจุดเน้น
  4. ให้ความสำคัญการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
  5. จัดทำรายงานความก้าวหน้าของผู้เรียนตามจุดเน้น

ด้วยกลไกเช่นนี้ ทำให้เราทราบได้ถึงมาตรการ หรือนโยบายต่างๆ จาก กระทรวงศึกษาธิการ ว่า สุดท้ายจะกลายเป็นงานสร้างกิจกรรม และเอกสารอันไปซ้ำเติมเพิ่มภาระงานเอกสารให้แก่ ครู/อาจารย์ได้อย่างไร และในช่วงเวลาหลายปีของการปฏิรูปการศึกษา สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างหาจุดจบไม่ได้

way2ed_dev_08มีข้อสังเกตว่า ประเทศที่จัดการศึกษาได้ดี 5 อันดับแรกของโลกในปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบจีน คือประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ และไต้หวัน ประเทศเหล่านี้เน้นให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ในการทำข้อสอบ จนบางครั้งก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นระบบที่ทำให้นักเรียนขาดความคิดสร้างสรรค์ (เช่น กรณีประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน) แต่ด้วยวิธีการที่ประเทศเหล่านี้จัดการศึกษาด้วยเน้นทำเพียงเรื่องเดียวหรือสองเรื่อง (เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเรื่องคุณภาพครู) ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการจัดการศึกษาชั้นนำได้ ขณะที่ประเทศตะวันตก ซึ่งจัดการศึกษาด้วยการเน้นทำทุกเรื่องตามตัวบ่งชี้ทางศึกษาศาสตร์ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เบลเยียม อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับลดลง

การนำระบบจัดการศึกษาจากประเทศตะวันตก เข้ามาใช้กับประเทศไทยโดยขาดความเข้าใจ และขาดการคัดเลือกส่วนที่เหมาะสมมาใช้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และสร้างความเสียหายกับการศึกษาของประเทศไทยมาโดยตลอดเช่นกัน

บางทีเราอาจจะต้องการความคิดนอกกรอบ และความกล้าหาญบ้างว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากมายใหญ่โต ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบต่างประเทศ (โดยขาดความเข้าใจ) ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพียงแต่ใช้วิธี "ทำด้วยการไม่กระทำ" นั่นคือให้ยกเลิกสิ่งที่ทำผิดไว้ในการปฏิรูปการศึกษารอบแรก และเปลี่ยนวิธีการทำงาน (ให้มีประสิทธิภาพ) เท่านั้น ไม่ต้องทำงานเพิ่ม ขณะนี้การปฏิรูปการศึกษาของเราเปรียบเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน ซึ่งตอนนี้เราขึ้นมานั่งบนหลังช้างแล้วกว่าสิบปี และยังจับตั๊กแตนไม่ได้ (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนปีล่าสุดยังคงต่ำลงอย่างต่อเนื่อง) น่าจะถึงเวลาที่จะเปลี่ยนวิธีการได้แล้ว

การทำให้น้อยลง

นักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ผู้คิดวิธีเกษตรกรรมธรรมชาติขึ้น โดยใช้หลักปรัชญาการทำด้วยการไม่กระทำ ได้กล่าวไว้ว่า บางครั้งคนเราทำงานเกินจำเป็นเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาปรารถนา และบางสิ่งที่เขาปรารถนาก็เป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับเขา...... ตามปกติเมื่อเราคิดจะพัฒนาวิธีการอะไรสักอย่าง เรามักจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า "ลองวิธีนี้ดีไหม" หรือ "ลองวิธีนั้นดีไหม" ผมทำตรงกันข้าม.... ซึ่งส่งผลให้งานง่ายขึ้น ยิ่งกว่าหนักขึ้น วิธีคิดของผมก็คือ "ลองไม่ทำสิ่งนี้ดู ลองไม่ทำสิ่งนั้นดูซิ"

การที่เราจะยกเลิกหรือลด กิจกรรม แผนต่างๆ ที่เป็นส่วนเกินออกไปได้นั้น ขอให้เรามาพิจารณาลักษณะการเกิดของมันก่อน เมื่อสืบสาวไปยังต้นเหตุแล้วเราจะพบว่า กิจกรรมส่วนเกินเหล่านี้ถูกคิดทำขึ้นจากนักวิชาการส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้ตามตำรับตำราแต่ไม่เคยเชื่อมโยงกับความจริงเลย ผู้เขียนขอเรียกนักวิชาการเหล่านี้ว่า"นักปริยัติทางการศึกษา" นักวิชาการเหล่านี้ได้คิดนโยบาย แผน คำสั่ง ตัวบ่งชี้ ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรม และเอกสารเฟ้อขึ้นมาอย่างมากมาย

way2ed_dev_10โดยนักปริยัติทางการศึกษามักจะติดนิสัย "ครูตรวจงานนักเรียน" โดยที่สร้างกติกาหรือตัวบ่งชี้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาไทยจำลองให้ผู้ตรวจประเมินทำตัวเป็นครู และสถานศึกษาทำตัวเป็นนักเรียน ซึ่งสถานศึกษาต้องเตรียมการบ้านหรือรายงานไว้ให้ตรวจในรูปของรายงานการประเมินตนเอง (SAR) พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ

รูปแบบเช่นนี้ใช้ไม่ได้ เพราะสถานศึกษาไม่ใช่นักเรียน แต่เป็นสถานประกอบการหรือองค์กรที่เป็นมืออาชีพแล้ว ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ พนักงานขายของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับการประเมินผลการทำงานจากยอดขายสินค้าที่พนักงานนั้นทำได้ ซึ่งก็เป็นปกติ ต่อมาบริษัทปรับปรุงวิธีการประเมิน โดยเชิญนักวิชาการมาช่วยประเมิน ซึ่งนักวิชาการดังกล่าวก็เป็นนักวิชาการที่ติดนิสัย"ครูตรวจงานนักเรียน" ดังนั้นจึงมาพร้อมกับ รายการตัวบ่งชี้หลายรายการ เช่น บุคคลิกภาพ ภาษาที่ใช้ การแต่งกาย โดยมียอดขายสินค้าเป็นหนึ่งในหลายรายการตัวบ่งชี้นั้น ซึ่งเมื่อคิดคะแนนประเมินออกมาแล้ว พนักงานขายที่เคยได้คะแนนการประเมินดีจากการคิดคะแนนจากยอดขายอย่างเดียวกลับได้คะแนนต่ำลง แน่นอนที่เจ้าของบริษัทที่มีวิจารณญาณอยู่ย่อมต้องกลับไปเลือกวิธีประเมินแบบเดิมคือ จากยอดขายอย่างเดียวซึ่งเป็นผลลัพธ์ (out put) ที่ชี้ขาด ก่อนที่จะสูญเสียพนักงานขายดีๆ ไป

ตัวอย่างข้างบนชี้ให้เห็นว่า ในการประเมินบุคคลหรือองค์กรที่เป็นมืออาชีพแล้ว เราต้องประเมินที่ผลลัพธ์เป็นหลัก การประเมินกระบวนการ (process) อาจทำให้ผิดพลาดได้เพราะในสภาพจริงจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงานมากกว่าในสภาพจำลองซึ่งใช้ในการเรียนการสอน

ในทางกลับกัน จะเป็นการถูกต้องที่เราจะประเมินนักเรียนซึ่งยังไม่ได้เป็นมืออาชีพด้วยการประเมิน กระบวนการ เพราะถือว่าขั้นตอนกระบวนการเป็นสิ่งที่ครูต้องฝึก ต้องสอนให้นักเรียนทำให้ได้เป็นขั้นๆ ไปจนถึงขั้นสุดท้ายได้เป็นผลลัพธ์ (โดยจัดสภาวะการเรียนจำลองให้คล้ายสถานการณ์จริงที่สุด)

หรือสรุปได้ว่า การประเมินการทำงานของมืออาชีพเน้นประเมินจากผลลัพธ์ โดยมีความเชื่อว่าผู้ถูกประเมินมีความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่การประเมินจะช่วยให้เขาทำตามเกณฑ์ แต่กรณีประเมินนักเรียนซึ่งเป็นการประเมินผู้ที่อยู่ระหว่างการเรียน เป็นการประเมินเพื่อเน้นการสอนหรือการพัฒนาเพิ่มเติม จึงเน้นการวัดทั้งกระบวนการ และผลลัพธ์ ซึ่งแม้ว่าถ้าให้น้ำหนักแก่คะแนนกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ก็ไม่มีความเสียหายอะไร เพราะทุกอย่างยังไม่ใช่ของจริง (เป็นเพียงสิ่งที่จำลองขึ้นจากการเรียนการสอน)

การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบอยู่โดยเน้นการประเมินตัวบ่งชี้กระบวนการ จึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อสถานศึกษาเลย นอกจากจะทำให้ผลลัพธ์การประเมินผิดจากความจริง เพราะการให้น้ำหนักคะแนนผิดแล้ว ยังถือว่าเป็นการสร้างภาระการประเมินที่สูงสุดเท่าที่ทำกับสถานศึกษาในขณะนี้

way2ed_dev_01

หัวข้อต่อไปนี้เกิดจากการที่ "นักปริยัติทางการศึกษา" ไม่รับรู้หรือไม่เชื่อมโยงตำรากับความจริงจึงได้บัญญัติกติกาที่ทำให้เกิดการสร้างเอกสารเท็จ หรือกิจกรรมแปลกๆ ผิดที่ผิดทาง ดังนี้

1. ทำกิจกรรมประจำให้กลายเป็นแผน

กิจกรรมประจำที่สถานศึกษาทำอยู่เป็นประจำ เช่น งานไหว้ครู งานกีฬาสี ฯลฯ ซึ่งเดิมสามารถจัดทำได้โดยแทบจะไม่ต้องมีเอกสารกำกับ แต่พอมีการประเมินคุณภาพการศึกษา กิจกรรมประจำเหล่านี้ต้องจัดให้อยู่ในรูปของแผนหรือโครงการที่มีเอกสาร PDCA ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างในงานประกันคุณภาพการศึกษาได้ นับเป็นการสร้างเอกสารเท็จเพราะเกินไปจากการรองรับงานจริง และเพิ่มภาระงานเอกสาร

2. กิจกรรมในวิชาเรียนจับมาไว้นอกวิชาเรียน

การพัฒนา นักเรียน/นักศึกษา ด้วยกิจกรรม วิธีที่มีประสิทธิภาพคือให้กิจกรรมนั้นอยู่ในหลักสูตรหรือวิชาที่สอน แต่เนื่องจากระบบประกันคุณภาพการศึกษาเรียกร้องให้ทำแผนจำนวนมาก วิธีหนึ่งในการสร้างแผนก็คือการดึงกิจกรรมที่สอนอยู่ในวิชาใดวิชาหนึ่งอยู่แล้วออกมา แล้วทำการสวมแผนลงไป เช่น การดูงานหรือทัศนะศึกษา จะเห็นว่า นอกจากสร้างเอกสารเท็จโดยไม่จำเป็นแล้ว เมื่อกิจกรรมเหล่านี้มาอยู่นอกชั้นเรียนยังสร้างภาระแก่ ครู/อาจารย์ ที่จะต้องสร้างสถานการณ์ตัดริบบิ้น ถ่ายรูปขึ้นมาอีก

3. สมุดพกความดี เกราะเหล็กคุณภาพ

การที่มีการใช้ระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทยแบบผิดๆ มาได้อย่างยาวนาน โดยไร้การโต้แย้ง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะระบบดังกล่าวมีเกราะเหล็กอันแข็งแกร่งสำหรับป้องกันตนเอง ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อไวรัสโรคเอดส์ที่ประสบความสำเร็จในการอยู่รอดโดยใช้วิธีโจมตีที่จุดยุทธศาสตร์คือ ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เกราะดังกล่าวได้แก่ การบัญญัติให้ทำสิ่งดีๆ คือ คุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น การเสนอสิ่งเหล่านี้ในที่ประชุมมักจะไร้การโต้แย้งคัดค้าน เพราะใครที่คัดค้านก็เหมือนผู้ร้ายในองค์กรที่คัดค้านสิ่งดีๆ แม้ว่าโดยวิธีการแล้วจะไม่มีทางสำเร็จเลยก็ตาม โดยเฉพาะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีค่านิยมเรื่องหน้าตาเป็นสิ่งสำคัญ ระบบที่ผิดๆ นี้จึงงอกงามเป็นพิเศษ

way2ed_dev_05ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สมุดพกความดี ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการคิดขึ้น เพื่อให้นักเรียนบันทึกการทำความดีของตนไว้ในสมุดพก เพื่อไปคิดเป็นคะแนนสำหรับพิจารณาเข้าเรียนต่อได้

ความจริงการส่งเสริมให้คนทำดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งถูกต้องแน่นอน แต่วิธีการใช้สมุดพกความดีไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะการวัดความดีซึ่งเป็นนามธรรมให้เป็นคะแนนเป็นสิ่งที่ทำยาก ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการเอาคะแนนที่วัดได้ไปตัดสินอนาคตหรือความอยู่รอดของผู้คน ผลที่ได้คือ ทำให้ครู และนักเรียนทั่วประเทศต้องสร้างเอกสารเท็จขึ้นมา เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและสถาบัน

บางท่านอาจไม่เข้าใจว่าเป็นไปได้อย่างไร ก็ขอให้พิจารณากรณีที่คล้ายกันคือ กรณีการรวมคะแนนค่า GPA ของนักเรียนเข้ากับคะแนนสอบแอดมิชชัน ซึ่งมีเสียงโต้แย้งแต่แรกแล้วว่า จะทำให้มีการปล่อยเกรดให้นักเรียนของตนเองจากโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เกิดการปล่อยเกรดค่า GPA ของโรงเรียนทั่วประเทศจริง ที่จริงทุกคนอยากเป็นคนดี (โดยเฉพาะครูบาอาจารย์) แต่การสร้างเงื่อนไข "ไม่โกงอยู่ไม่ได้" ขึ้นมาของนักปริยัติทางการศึกษา ส่งผลให้แทนที่จะส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม กลับทำให้ครู และนักเรียนต้องสร้างหลักฐานเท็จ มีข้อสังเกตว่ากติกาที่สร้างเงื่อนไข "ไม่โกงอยู่ไม่ได้" ที่พบได้ทั่วไปในเอกสารประกันคุณภาพ อันนำไปสู่การสร้างหลักฐานเท็จมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ (1) มีตัวบ่งชี้ที่คลุมเครือวัดค่ายากหรือเกินกำลังที่จะทำได้ (2) คะแนนจากตัวบ่งชี้ไปผูกกับความอยู่รอดของผู้ถูกประเมิน (3) ผู้ถูกประเมินเป็นผู้เตรียมเอกสาร

4. การจัดการความรู้ (KNOWLEDGE MANAGEMENT, KM) เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน

การจัดการความรู้เป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งภายใต้ศาสตร์บริหารจัดการ ส่วนระบบประกันคุณภาพก็เป็นเรื่องที่มาจากศาสตร์บริหารจัดการเช่นกัน การนำระบบประกันคุณภาพมาใช้กับสถานศึกษาจึงมีการพ่วงหัวข้อการจัดการความรู้เข้ามาด้วย

way2ed_dev_02จุดประสงค์หลักของการจัดการความรู้ในการบริหารจัดการองค์กรคือ เพื่อการกระจายอำนาจ โดยการจัดการความรู้ที่ดีย่อมทำให้บุคลากรทุกส่วนขององค์กรมีความรู้พร้อมที่จะทำงานด้วยตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องถามกลับไปยังส่วนกลางหรือผู้บังคับบัญชา

การนำหัวข้อการจัดการความรู้มาใช้ในการประเมินคุณภาพสถานศึกษาเป็นการทำผิดแบบ "เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน" ทั้งนี้เพราะสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็มีการจัดการความรู้อยู่ก่อนแล้ว และทำเป็นอาชีพไม่ใช่ทำเป็นส่วนเสริม สถานศึกษามีการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจโดยธรรมชาติ ชั้นของสายบังคับบัญชามีน้อย ครู/อาจารย์ ได้รับบทบาทของผู้มีปัญญา สามารถมีอำนาจตัดสินใจการจัดการเรียนการสอนของตนเองได้ค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอน การจัดกิจกรรม การคิดคะแนน การตัดเกรด อีกทั้งสถานศึกษาก็เป็นมืออาชีพทางการจัดการความรู้อยู่แล้ว โดยมีการจัดการสอนวิชาต่างๆ หลายหลากวิชา แก่ผู้เรียนจำนวนมาก มีการจัดการผู้สอน สถานที่และอุปกรณ์ (จัดตารางสอน) สำหรับความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ ก็ได้มีการจัดการงานวิจัยที่มีการดำเนินการและพัฒนาการมายาวนานนับพันปี ตามพัฒนาการของมหาวิทยาลัย ปัญหาคือสิ่งเหล่านี้คนในวงการศึกษาเองไม่รู้ว่าคือสิ่งเดียวกับการจัดการความรู้ของศาสตร์บริหารจัดการ

เมื่อคิดว่า การจัดการความรู้ที่นำมาใช้ เป็นส่วนเสริมที่มาจากศาสตร์อื่นจำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ จึงกลายเป็นภาระแก่สถานศึกษาที่จะสร้างการจัดการความรู้ใหม่ขึ้นมา ไม่ให้ซ้อนกับสิ่งที่สถานศึกษาทำอยู่แล้ว จัดเป็นภาระหนักเพราะเป็นความพยายามที่จะคิดสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นมา

5. บริหารความเสี่ยง เสี่ยงจริงหรือ

หัวข้อบริหารความเสี่ยงมีลักษณะเช่นเดียวกับกรณีของหัวข้อการจัดการความรู้ ในแง่ที่เป็นหัวข้อที่ติดมากับศาสตร์บริหารจัดการ และไม่สมควรที่จะนำมาใช้เพื่อประเมินคุณภาพสถานศึกษา แต่เมื่อนำมาใช้จึงทำให้เกิดอาการฝืนและมีนงงแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ไม่แพ้กรณีการจัดการความรู้

way2ed_dev_03จากพุทธวจนะที่ว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย การบริหารความเสี่ยงจากศาสตร์บริหารจัดการเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ธรรมะ เรื่องความไม่ประมาทมาใช้ เพื่อป้องกันการตายหรือล่มสลายขององค์กรทางธุรกิจ หรือการลงทุนทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูง

การประเมินเรื่องบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่สมควรจะทำกับเจ้าของ หรือผู้บริหารที่กำลังจะลงทุนหรือขยายธุรกิจ ซึ่งถ้าเทียบเป็นสถานศึกษาแล้วกรณีเป็นโรงเรียนก็ควรจะประเมินคนของกระทรวงศึกษาธิการที่มีอำนาจตั้งโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ไปใช้เรื่องบริหารความเสี่ยงไปประเมินโรงเรียนที่ตั้งไปแล้วทุกปีๆ

ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยก็ทำนองเดียวกัน การประเมินเรื่องบริหารความเสี่ยงต้องทำกับผู้มีอำนาจในการวางแผนหรือลงทุนตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ตั้งวิทยาเขตใหม่ ตั้งคณะใหม่ ซึ่งได้แก่ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และนายทุนเจ้าของมหาวิทยาลัย เมื่อหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยใหม่ หรือคณะต่างๆ ตั้งไปแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปประเมินความเสี่ยงกันทุกปีอีกแล้ว

การประเมินความเสี่ยงที่ดำเนินการกับสถานศึกษาที่สร้างเสร็จแล้วทุกปี ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์ การพยายามประเมินเช่นนี้ทำให้สถาบันต้องสร้างหลักฐานขึ้น โดยไปประเมินความเสี่ยงในเรื่องสัพเพเหระที่ไม่ได้มีมูลค่าถึงกับต้องประเมินเลย

6. บูรณาการ เท่าไหร่จึงจะพอ

ดูเหมือนนักปริยัติทางการศึกษาจะไม่สามารถประมาณสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้องเลย มาตรการต่างๆ จะใช้มากหรือน้อย หนักหรือเบา เร็วหรือช้า ดูจะมีปัญหาไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะคำเฉพาะทางศึกษาศาสตร์ เช่น บูรณาการ ความต่อเนื่อง หรือ พัฒนาการ ซึ่งหลายครั้งที่คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการตั้งกติกา ทำตัวบ่งชี้ หรือแม้แต่การออกข้อสอบโดยการประมาณใช้ที่ผิดๆ แล้วทำให้เกิดเป็นเรื่องตลกที่ก่อผลร้ายระดับชาติ ตัวอย่างเช่นที่เกิดกับข้อสอบโอเน็ตในบางปี

สำหรับในระดับมหาวิทยาลัย ทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังระบุให้มหาวิทยาลัยบริการวิชาการแล้ว ให้นำกลับมาบูรณาการกับงานวิจัย หรืองานสอนอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินจำเป็น และฝืนธรรมชาติของการให้บริการวิชาการตามปกติ ขอยกตัวอย่าง เปรียบเหมือนพรานที่ออกล่าสัตว์โดยใช้ธนู การที่พรานยิงธนูออกไปแล้ว หากมีการเก็บลูกธนูกลับคืนมาเพื่อใช้ใหม่ได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นหรือสำคัญอะไร เมื่อเทียบกับภารกิจหลักคือการล่าสัตว์ให้ได้ การตั้งกฏเกณฑ์ให้พรานเก็บลูกธนูที่ยิงไปแล้วกลับคืนให้ได้ รังแต่จะสร้างภาระจนไม่เป็นอันทำภารกิจหลักคือ การล่าสัตว์

7. อาจารย์มหาวิทยาลัยสลับร่างกับครูโรงเรียน

จากการปฏิรูปการศึกษารอบแรก  มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของ กระทรวงศึกษาธิการครั้งใหญ่ ได้มีการรวมเอาทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่ดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษา เข้าไปสังกัดใต้ร่มของ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการอุดดมศึกษา (สกอ.)

way2ed_dev_06ผลจากการยุบรวมดังกล่าว อาจจะเป็นที่มาของการนำวิธีบริหารจัดการบางอย่างที่ใช้กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียน) มาใช้กับการศึกษาระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) และในทางกลับกันมีการนำวิธีบริหารจัดการบางอย่างที่ใช้กับระดับอุดมศึกษาไปใช้กับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการใช้อย่างผิดๆ อีก

สิ่งที่เกิดขึ้นกับระดับอุดมศึกษาคือ กิจกรรมต่างๆ มากมายที่เดิมพบเห็นในโรงเรียน ก็มาเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องเกณฑ์ (กวาดต้อน) นักศึกษามาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ประกวดเด็กดี ทำบอร์ดวันสำคัญประจำปี ฯลฯ นอกจากนี้อาจารย์ยังต้องพยายามทำงานวิจัยในชั้นเรียน (แทนที่จะไปทำงานวิจัยในสาขาวิชาหลักของตนเอง) ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการบั่นทอนพัฒนาการของอุดมศึกษาโดยแท้

จริงอยู่กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนทางด้านต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ชนิดของกิจกรรม ความถี่ของกิจกรรมที่ใช้ย่อมแตกต่างกันไปตามวัยของผู้เรียนซึ่งมีพัฒนาการที่ช่วงวัยต่างๆ ไม่เหมือนกัน การพัฒนาการของเด็กในวัยโรงเรียนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่กิจกรรมที่รองรับพัฒนาการเหล่านั้น ซึ่งต้องมีมากหลากหลายไปด้วย แต่เมื่อผู้เรียนอยู่ในวัยอุดมศึกษา การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาการค่อนข้างคงที่ เปรียบเสมือนไม้แก่ ดังนั้นกิจกรรมที่รองรับกับผู้เรียนในวัยนี้จึงควรจะน้อยลง และเน้นกิจกรรมรองรับวิชาชีพต่างๆ มากกว่า

ส่วนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูที่ต้องการขอเลื่อนวิทยฐานะก็จะต้องทำผลงานวิชาการ ซึ่งแทบจะเลียนแบบการทำงานวิจัยเพื่อขอตำแหน่งวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว ซึ่งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่จำเป็นถึงกับต้องทำงานวิจัยขนาดนั้นเลย การทำผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะของครู เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูไม่ทุ่มเทเวลาให้แก่งานสอน และเกิดการจ้างทำผลงานวิชาการขึ้นอย่างมากมาย จึงมีผู้เสนอไว้อย่างน่าสนใจคือ ให้แก้ไขโดยให้ประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูจากผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียน ตามบทความเรื่อง "ให้ตำแหน่ง คศ. 3 แก่ครูอย่างไร : คุณภาพเด็กไทยจะไม่แย่ลง"โดย บุญมี พันธุ์ไทย

ข้อเสนอแนะ

แม้ว่าจะมีการพูดจากหลายฝ่ายว่า การปฏิรูปการศึกษารอบปัจจุบันให้มีการเน้นที่คุณภาพผู้เรียน (คล้ายว่าผู้นำ หรือหัวหน้าหน่วยงานจะทราบแล้วว่าไม่ต้องไปเน้นวัดอย่างอื่น) แต่อย่างไรก็ตามในทัศนะของผู้เขียนแล้ว การกล่าวเช่นนี้ยังเจาะจงสาเหตุไม่ชัด และอาจไม่มีความแตกต่างจากการเน้นคำว่าผู้เรียนเป็นสำคัญจากการปฏิรูปการศึกษารอบแรกเลย โดยเฉพาะเมื่อยังดำเนินการในรูปแบบเดิมที่ล้มเหลว ข้อความดังกล่าวย่อมถูกตีความเฉไฉเป็นอย่างอื่นไปได้ ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องระบุว่า เน้นคุณภาพผู้เรียนก็คือ เน้นผลสัมฤทธิ์ในการทำข้อสอบ และจะมีผลสัมฤทธิ์การทำข้อสอบได้ก็ต้องไปแก้ปัญหาให้ครูมีเวลาให้กับการสอนเต็มที่ ซึ่งจะมีเวลาสอนเต็มที่ก็ต้องไปลดภาระการประเมิน (คุณภาพการศึกษา)

tutor_channel_2

ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นที่จะต้องกล้ายอมรับความจริงที่ว่า สาเหตุของคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำมาตลอดในช่วงการปฏิรูปการศึกษา มีสาเหตุจากระบบประเมินคุณภาพการศึกษาแบบผิดๆ ไม่ใช่สาเหตุอื่น แล้วให้ดำเนินการปฏิรูปวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาเสียใหม่โดยยึดหลักการ "การประเมินที่ดีย่อมไม่สร้างภาระการประเมินแก่ผู้ถูกประเมิน" และให้มีวาระแห่งชาติ (ทางการศึกษา) ว่าด้วยการลดภาระการประเมิน อาจรณรงค์ด้วยคำสำคัญว่า "ครูต้องทำหน้าที่สอน" หลังจากทำตามมาตรการแล้วประเมินผลโดยให้ทำโพลล์สำรวจดัชนี "ภาระการประเมิน" ของ ครู/อาจารย์ ทุกสามเดือน สำหรับมาตรการที่จะต้องทำมีดังนี้

  1. ให้เปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาโดย
    • ให้ยกเลิกการประเมินตนเองโดยสถานศึกษา เพราะที่ผ่านมา การประเมินตนเอง-กันเองได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง
    • ให้ สมศ. เป็นผู้ประเมิน โดยใช้ดัชนีการประเมิน ชนิดผลลัพธ์จำนวนไม่เกิน 5 ดัชนี โดยใช้ดัชนีสำคัญที่ไม่สามารถสร้างหรือแต่งขึ้นได้โดยสถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้ดัชนีจำนวนมากโดยหลายดัชนีไม่สำคัญจริงแต่ได้รับการให้น้ำหนักเท่ากับดัชนีสำคัญทำให้คะแนนเฉลี่ยที่คิดออกมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (บางท่านอาจวิตกว่าจำนวนดัชนีเพียง 5 ดัชนีจะน้อยเกินไปและเกิดปัญหาเนื่องจาก สมศ. ได้จัดเตรียมบุคลากรไว้สำหรับทำการประเมินจำนวนมาก ผู้เขียนคิดว่าน่าจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยเมื่อเราลดการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามข้อ 1.1 แล้วก็จะมีงานบางงานที่ต้องการคนที่เข้าไปทำแทน ตัวอย่างเช่นเรื่องประเมินความพึงพอใจของสถานประกอบการต่อสถานศึกษาก็ให้ใช้บุคลากรเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าทำได้เป็นกลางและข้อมูลถูกต้องกว่า)
    • ให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพภายในที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษา เพราะที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาได้ทำให้รูปแบบการประเมินภายในกลายสภาพไปซ้ำซ้อนกับการประเมินภายนอกของ สมศ. ซึ่งเป็นงานฟอร์มใหญ่และเป็นทางการ นับเป็นการสิ้นเปลืองโดยการสร้างงานเอกสารไม่จำเป็นสูงสุดเพราะทำให้สถานศึกษาต้องจัดทำเอกสารและกิจกรรมเพื่อประเมินปีละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งโดยไม่จำเป็น (การประเมินคุณภาพภายในควรจะเป็นเรื่องภายในจริงๆขององค์กร โดยมีลักษณะง่ายๆ ไม่สิ้นเปลือง ไม่เป็นทางการ และประเมินเฉพาะบางเรื่องที่อยากจะรู้) ขอให้พิจารณาการจัดการศึกษาของประเทศจีนเป็นตัวอย่าง กระทรวงศึกษาธิการจะให้โรงเรียนมีอิสระบริหารจัดการภายในกันเองค่อนข้างสูง เพียงแต่ดำเนินตามกรอบแนวทางที่รัฐ และกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ก็พอ
  2. ยกเลิกการใช้เอกสาร มคอ. (รวมทั้งเอกสารประกันคุณภาพอื่นๆ ประเภทเดียวกัน) ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเป็นเอกสารที่ให้ทำโดยขาดความเข้าใจเรื่องประกันคุณภาพ ทำให้สร้างภาระงานเอกสารโดยไม่จำเป็นแก่สถานศึกษา
  3. ให้ประเมินการทำงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครูจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แทนการประเมินจากเอกสารงานวิชาการ

ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลดำเนินการตามมาตรการทั้ง 3 ข้อแล้ว จะทำให้ค่าดัชนี "ภาระการประเมิน" ลดลงและเมื่อใดค่าดัชนี "ภาระการประเมิน" ลดลงเข้าใกล้ศูนย์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ถ้าการปฏิรูปการศึกษารอบสองยังดำเนินการตามรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนเกรงว่าเวลาอีก 8 ปีที่เหลืออยู่คุณภาพการศึกษาไทยก็ยังคงวิกฤตไม่เปลี่ยนแปลง

                                         ที่มา http://www.krumontree.com/site/index.php/The-News/193-way2dev-ed2

 



01654 โดย ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2012-08-01 19:39:15 v : 6846



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา