เปิดใจ รมต.ศึกษา กับเสื้อแดง


 

 (จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ,ประพันธ์ จินดาเลิศอุดมดี/ สำนักข่าวเนชั่น)

สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ                             

ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวเนชั่น ถึงข้อสงสัย  ถูกมองว่า"ผิดฝาผิดตัว" ที่มานั่งเป็น รมว.ศึกษาธิการ รวมถึงการศึกษาไทยจะยกระดับอย่างไรเพื่อไม่ให้อยู่รั้งท้ายของโลกอย่างที่เป็นอยู่ และว่าด้วย นโยบายแจกแท็บเล็ต "แป๊ะเจี๊ยะ"กับ"เงินบริจาค"โรงเรียนต่างกันอย่างไร และอย่างไหนที่ทำได้-ไม่ได้ ที่สำคัญกับคำถาม รัฐมนตรีและที่ปรึกษา เป็น"เสื้อแดง"จะมีผลต่อการศึกษาไทยหรือไม่
           
 
 
  
นโยบายการศึกษาของท่านที่เคยแถลง คือ แผนปฏิรูปการศึกษาหรือไม่
  การบริหารการศึกษาต้องมีปรัชญา ปรัชญาคือเราดูแลประชาชนเหมือนคนในครอบครัว เราต้องให้โอกาสเขาหมด แต่ว่าต้องยอมรับนะว่า คนเกิดมาสติปัญญาไม่เท่ากัน คนเกิดมาในพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน โอกาสไม่เท่ากัน แน่นอนคุณอยู่จังหวัดไกลๆ คุณจะเสียโอกาสมากกว่าอยู่ในกรุงเทพแน่นอนไม่ว่าจะทำยังไง แต่เราก็จะพยายาม เราจะไปบอกเขาว่าอยู่ศรีสะเกษอยากย้ายมากรุงเทพไหมละ แล้วลูกคุณจะจบปริญญาเอก
  

“นี่คือชีวิตแม่ผมครับ แล้วแม่ก็ย้ายมาเพราะเขาขายก๊วยเตี๋ยว ผมเชื่อว่าผมจบแค่ป.4แน่ ถ้าผมอยู่ศรีสะเกษ เพราะพ่อเป็นกรรมกรทำรองเท้า พ่อก็บอกว่าจบ ป.4 ออกมาได้แล้ว เพราะตัวเขายังทำรองเท้าได้ ให้มาฝึกวิชาชีพ แม่ไม่เอาด้วยให้อดทน ลูก5คนก็ย้ายมาอยู่ฝั่งธน มาเรียนโรงเรียน พอพ่อแม่ย้ายมาเขาก็เห็นว่าข้างบ้านเขาเรียนหมดเลยแล้วลูกเราจะจบป.4 มาแบกขนมขายได้ยังไง  แล้วผมก็สอบชิงทุนการศึกษาได้ตอนอยู่ป.4

 “ถ้าคุณอยู่ห่างไกล คุณจะเสียโอกาสแน่นอน ผมก็จะให้ข้อมูลข่าวสารให้คุณเลือก คุณอยู่โรงเรียนข้างบ้านมีนักเรียน 9 คนคุณเสียโอกาสแน่นอน คุณอยากอยู่ก็ให้คุณเลือก คุณจะเอาลูกขึ้นรถมาเรียนสวนกุหลาบ เตรียมอุดมไหม ผมจะพยายามทำ แล้วเงินคุณน้อย คุณก็จะมีโอกาสน้อยกว่าคนมีเงิน”

 "พ่อผม คือ คนๆหนึ่งที่นั่งที่ป้ายรถเมล์เป็นที่นั่งซ่อมรองเท้านั่นแหละ แล้วมีน้องผมหลายคน จบแค่ ป.7 ก็มีนะ คือโอกาสเขาไม่มี บ้านมันจน ”

 ถามว่าเรามีปัญญาเอาโอกาสไปให้ลูกทุกคนไหม ประโยคนี้มันทำได้ถ้าประเทศร่ำรวย อเมริกาเอาโอกาสเข้าไปทุกที่ แต่เราไม่มีปัญญา ทุกวันนี้เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ชายแดนก็มีโอกาส ชาวเขาก็มีโอกาส มีโอกาสหมดแหละ แต่โอกาสมันไม่ให้คุณภาพเท่ากับการเรียนที่สวนกุหลาบ เตรียมอุดม โรงเรียนนานาชาติ เพราะโอกาสมันขึ้นอยู่กับเงิน ซึ่งวันนี้ที่สร้างโอกาสคือ แก้ไขกฎระเบียบฟรี ครูฟรี ฟรีครู ฟรีทีชเชอร์ฟอร์มพันธนาการต่างๆ

 ส่วนปรัชญาของนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ คือ เราดูแลลูกหลานของพี่น้องประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา มาจากปรัชญาใหญ่ตอนหาเสียงที่ว่า “เราดูแลประชาชนเหมือนคนในครอบครัว “ นี่คือปรัชญาใหญ่สุดของการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำร้ายประชาชน จะไม่โกงประชาชน ดังนั้นในกระทรวงศึกษาเราจึงดูแลลูกหลานของพี่น้องประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา และเราก็ดูแลครูที่สอนลูกหลานก็เหมือนพี่น้องของเรา จึงนำปรัชญานี้ใส่ไปในการให้นโยบายกระทรวง ทุกอย่างจึงจะมุ่งสู่ปรัชญานี้หมด

 ทีนี้ก็มีคำถามว่ามีสองระดับ คือ ระดับนักเรียนถึงมัธยมศึกษา เราก็จะให้ศึกษาให้เท่าเทียมกัน มีลูก 5คน ก็ต้องมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกคน ทั้งคุณภาพและค่าใช้จ่ายที่ให้ พอลูกโตขึ้นมาในระดับอุดมศึกษาเป็นอาชีวะศึกษา ก็จะทำให้เขาเก่งในด้านที่เขาสนใจให้มีความรู้ให้มีจินตนาการตั้งแต่ระดับต่ำกว่ามัธยม ไม่ใช่ว่ามัธยมเรียน “ไสไม้” อย่างเดียวตั้งแต่ป.1 พอจบม.6 ก็ไสไม้ โดยไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไม่รู้ภาษาอังกฤษ 

อันนี้ผมว่าไม่ถูกหรอก แต่พอถึงระดับมหาวิทยาลัย ระดับอาชีวะฯ อยากเป็นแม่ครัวที่เก่งก็เริ่มตรงนี้ได้ ไม่ต้องเป็นแม่ครัวตั้งแต่อายุ 6 ขวบหรอก ฉะนั้นการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันระดับโรงเรียน ให้คิดเป็นทำเป็น คิดก็เป็น ทำก็เป็น จินตนาการก็เป็น ระดับอาชีวะฯ ระดับมหาวิทยาลัยคิดเป็นทำเป็นแล้ว อยากเชี่ยวชาญด้านหนึ่ง อยากทำงานในศาลต้องทำยังไงก็ต้องไปเรียนนิติศาสตร์ แต่ระหว่างที่เรียนนิติศาสตร์ก็ต้องรู้เรื่องชีววิทยา ฟิสิกส์ เลขาคณิต ไม่ใช่เรียนนิติศาสตร์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ส่วนวิธีการของการทำให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียมกัน แค่คิดว่าถ้าเขาเป็นลูกหลานของเราจะทำยังไงให้เขาบ้าง ให้คิดแค่นี้

เรื่องนโยบายแจกแท็บเล็ตไปถึงไหนแล้ว 
 “คือเราคงไม่โกงลูกเรามั๊ง จะซื้อแท็บเล็ตให้ก็ไปคิดเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราโกงลูกเราเนี่ย เราไม่ได้คิดว่าเด็กเหล่านั้นเป็นลูกเรา แต่เป็นลูกคนใช้ คนที่บริหารส่วนใหญ่ที่ไปโกงเด็กๆเขาไม่ได้คิดว่าเป็นลูกหลานเขาหรอก แต่คิดว่าเป็นลูกคนใช้ พยายามไม่ให้ไปเรียนหนังสือด้วยซ้ำไป”


 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตก็ซื้อมาให้ป.1 ที่มี 860,000 คน แต่แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมายของนโยบาย ถามว่าทำไมแจกแท็บเล็ตเพราะเทคโนโลยีมันก้าวหน้าไปแล้ว เราไม่ได้เรียนเขียนบนกระดานดำอีกแล้ว ถ้าปฏิเสธแท็บเล็ตวันนี้ ก็เหมือนปฏิเสธหนังสือที่เขียนสมัยกระดานดำ ตอนผมเรียนป.1 ผมเขียนกระดานดำนะ ไม่มีกระดาษ กระดาษมันแพง เขาถึงให้เขียนกระดานชนวน ส่วนครูก็มีดินสอที่เป็นหิน ผมก็มานั่งคิดว่าทำไมผมไม่เขียนกระดาษ เพราะกระดาษมันแพงไม่มีเงินซื้อ เพราะฉะนั้นมาถึงแท็บเล็ตก็มาด้วยเหตุผลแค่นี้ว่าแทนที่จะนั่งอ่านหนังสือบน

แผ่นกระดาษก็อ่านหนังสือบนแท็บเล็ต ตอบคำถาม ตอบข้อสอบได้ หิ้วไปอันเดียวเท่านั้น เดิมต้องแบกไปทั้งหมด ครูมีสอนเช้าถึงเย็นก็สอนด้วยหนังสือ"ตั้งนึง"ทุกวันที่ต้องแบก

 แล้ว"แท็บเล็ต"มันดีกว่าหนังสือยังไง มันก็คือหนังสืออันนึงที่มีบางๆอันเดียวไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย แล้วมันมีมากกว่านั้นนะ และแท็บเล็ตต้อง Access to internet จะติด Wifi 2 หมื่นกว่าแห่ง ก็ได้ประกาศดังๆขอไปแล้ว กระทรวงไอซีทีก็จะไปจัดการ แล้วถามว่าแท็บเล็ตเข้าอินเตอร์เน็ตได้แล้วไปดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมจะทำยังไง ผมถามว่าไอ้คนพูดคุณดูหรือเปล่า ถ้าเขากันไม่ให้คุณดูเด็กก็ไม่ได้ดูอยู่แล้ว แล้วใครบอกว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม พ่อแม่ก็ดูแลสิ อันต่อไปเล่นเกมทั้งวัน เด็กๆคุณเล่นหรือเปล่า แล้วเล่นเกมเสียหายอะไร เกมบางอย่างส่งเสริมให้ดีขึ้น

 “ลูกชายผมวันนี้อายุ 30 แล้วนะ เด็กมันนั่งเล่นเกมทุกวันก็ไม่เห็นเป็นอะไร วันนี้ตำแหน่งก็สูงในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วมันมีปัญหาอะไร คือบางคนเอาค่านิยมของตัวเอง พออายุ 50-60 ปี ก็ไปกดค่านิยมของเด็ก แต่ผมต้องการให้เด็กมีเสรีภาพทางความคิดมีจินตนาการ เดิมระบบของกระทรวงศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นระบบครอบเด็กคือบางคับขู่เข็ญ ให้เด็กอยู่ในกรอบ อันนั้นควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ ผมก็ถามว่าคนที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการวันนี้คุณนุ่งจูงกะเบนมาทำงานไหม ทำไมคุณนุ่งกางเกงมาหละ เพราะทวดคุณนุ่งจูงกะเบนเขาก็แอนตี้คุณ ไม่อยากให้คุณนุ่งกางเกงหรอก แล้วทำไมเด็กถึงนุ่งกางเกงมาหละ ก็คุณคิดแตกต่างจากทวดคุณใช่ไหม แต่พอคุณ 50-60 ปี ก็บอกว่าเด็กต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น ทำไมหละ เด็กจะคิดแตกต่างจากคุณไม่ได้หรือเพราะโลกต้องพัฒนา และมีคนบอกว่าเด็กสมัยนี้เขียนหนังสือไม่สวย เขียนเหมือนถั่วงอกแล้วคุณบอกว่าคุณเขียนสวย แล้วใครเป็นคนบอกว่าหนังสือแบบไหนสวย ไม่สวยละ เด็กเขาก็บอกว่าแบบนี้แหละสวย คุณนั่นแหละเขียนไม่สวย

ผมจึงต้องตัดค่านิยมนี้ออกไป ให้เด็กมีจินตนาการ และขออ้างประโยคของไอสไตน์ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ขนาดพระพุทธเจ้าเองยังบอกว่าไม่ต้องเชื่อ ให้ถามได้”

 "แท็บเล็ต" เราซื้อแบบ"จีทูจี"เพื่ออะไร เดิมเข้ามาจะซื้อของก็เข้ามาโกงกันทั้งนั้น จึงเอา"จีทูจี"ให้โปร่งใส และเราออกสเป็คนะ ไม่ใช่เขาออกสเป็ค ตอนนี้ก็ออกสเป็คเรียบร้อยแล้ว เขาก็ไปผลิตมาเป็นฮาร์ดแวร์ ส่วนเนื้อหาที่ใส่เข้าไปในแท็บเล็ตก็จะมี ดร.โอฬาร ชัยประวัติ ดูแลเนื้อหาที่ใส่

จะเน้นเรื่องความเท่าเทียม เรื่องการศึกษาก่อน อยากให้บอกว่าจะเท่าเทียมได้ยังไงและคุณภาพจะเป็นยังไง
นี่...คือลูกของคุณ คุณต้องการทำอะไรให้ลูกของคุณบ้าง ลูกของพี่น้องประชาชนผมก็จะทำแบบนั้น บางคนถามว่า โอ๊ย.. แท็บเล็ตเป็นของทางราชการ ต้องมาโรงเรียนถึงจะดูได้ ก่อนกลับต้องเอาไว้ที่โรงเรียนเดี๋ยวมันหาย ผมถามว่าถ้าเป็นลูกคุณ คุณทำแบบนั้นรึเปล่า คุณซื้อแท็บเล็ตให้ลูกคุณยืมหรือเปล่า ตอนเย็นคุณเก็บตอนเช้าคุณให้ ดังนั้นให้นักเรียนเอากลับบ้านไป เอาไปตลอดเวลา

 กลับบ้านไปก็มีปัญหาต่อว่าของรัฐ มันต้องเอามาคืนไหม ผมมีความประสงค์ว่าไม่ต้องคืน คุณซื้อของให้ลูกคุณ 3ปี มันก็เป็นเศษพลาสติกแล้ว คุณบอกให้เอามาคืน แล้วถ้ามันเป็นพัสดุราคาต่ำ แล้วมันก็มีคำถามต่อไปว่าแล้วจะซ่อมยังไงถ้ามันเสีย หายแล้วจะทำยังไง ซึ่งถ้าหายโดยไม่เจตนาเราก็ซื้อเครื่องใหม่ให้ ถ้าเจตนาพ่อแม่เขาก็ต้องรับผิดชอบ ยกตัวอย่างถ้าเอาไปขาย 
    
ถ้าซื้อแบบจีทูจี ใครจะเป็นคนซ่อม
     อย่าไปกังวลมันเลย เดี๋ยวเขาก็มี เขาก็จัดหาบริษัทมันก็มีวิธีการจัดหา 
    
 รัฐจะซ่อมให้หรือต้องเป็นภาระของผู้ปกครอง 
        บางคนก็ไม่มีเงิน ผมก็ถามคำถามเดิมคุณเป็นพ่อ ถ้าลูกทำหล่นเสีย คุณจะให้ลูกไปขายพวงมาลัยไปซ่อมไหมละ รัฐบาลก็ทำแบบเดียวกับคนที่เป็นพ่อนี่แหละ
     
  ถ้าเครื่องหมดสภาพรัฐจะซื้อให้ใหม่หรือเปล่า 
  อันนั้นยังไม่ได้คิด อันนี้มันชุดแรกที่ให้แค่เด็กป.1 เพราะ3ปี มันก็หมดสภาพหมดแล้ว
   
 
ก็จะมีความต่างของผู้ปกครองที่มีปัญญาในการดูแล
       มันก็ต่างอยู่แล้วลูกคนจนก็นั่งรถเมล์ ลูกคนรวยก็นั่งรถเบ๊นซ์ ก็โอเคนี่ครับที่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องดูแลบ้าง ส่วนที่รัฐดูแลคือความเท่าเทียมกันในการดูแลการศึกษา ถ้าเครื่องหายโดยไม่เจตนา ในใจผมก็ให้เครื่องใหม่ไป แต่ถ้าพ่อแม่กินเหล้า แล้วพ่อเอาเครื่องไปขายพ่อแม่ก็ต้องรับผิดชอบ
   
 แล้ว"แท็บเล็ต"จะทันแจกเดือนพฤษภาคมไหม
   จะพยายาม แต่มันยังมีปัญหาอยู่ ผลิตก็แทบไม่ทัน ผมพูดเสมอว่าการตัดสินใจมันช้าไป 6 เดือน ถ้าไม่ทันนักเรียนบางส่วน ก็อาจจะอ่านจากตำรากระดาษก่อน และบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าอีก มันก็ใช้ไม่ได้
  
 ถ้าไม่ทันพฤษภาคมแล้วช้าที่สุดจะได้เมื่อไร
 
        โอ๊ย.. ตอบไม่ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเขาไปติดต่อก่อน
 
 
แล้วจะคุยเพื่อเปิดตัวทีโออาร์เมื่อไร
         มันมีหลายกระทรวงรับผิดชอบไม่ได้มีแค่เรา
  
 หลักสูตรที่บรรจุลงแท็บเล็ตจะทำยังไง

         ผมเสนอไปว่าหลักสูตร ป.1-3 ให้นักเรียนเรียนได้เลย ถ้าจบ 8 สาขาวิชาใน 3 ระดับเพราะครูสอนไม่ทันก็ให้เรียนให้หมดกับหลักสูตรที่อยู่ในนั้น แต่มันมีปัญหาว่าหลักสูตร ป.1-3 จะใส่ไปได้ไม่หมด

เรื่องครูจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพมากขึ้น 
        ครูถูกบังคับขู่เข็ญ ให้ทำหลายเรื่อง ทั้งกฎระเบียบ ทั้งเกณฑ์ไปต้อนรับผู้ใหญ่ที่สนามบินตามสถานที่ที่จังหวัดจัดงาน เวลาจะเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน ก็ต้องเขียนอะไรไปให้คนพิจารณาไม่ให้เขาไป เขาก็บอกว่าไม่ได้ เวลา จะเลื่อนวิทยฐานะต้องทำวิจัยอะไรต่ออะไรเยอะแยะ จะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง ไปสมัครแล้วสอบปรนัย 50 แบบ ก. แบบ ข. ให้ไปสัมภาษณ์แต่พูดให้ไพเราะ คือแสดงวิสัยทัศน์ แล้วก็มีทุกที่ที่ผมได้ยินมาเรียกเงินทั้งนั้น เราจะลดอันนี้ลงไป

 “กฎระเบียบที่กดบนบ่าครูต้องลดลงไป ทำไมต้องกรอกมาตรฐานตลอดเวลาผมไม่เข้าใจ ตอนผมเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยก็ต้องกรอก กรอกทำไมใครเป็นคนอ่าน แล้วคนออกแบบสอบถามคุณมีความรู้มาจากไหน สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา)ให้กรอกน้อยๆหน่อย เดี๋ยวผมเรียกคุย ให้กรอกให้น้อยหน่อยแล้วให้เด็กเป็นผู้ประเมินครู เวลาเลื่อนเงินเดือน เลื่อนวิทยฐานะให้เด็กประเมินครูเยอะๆ ให้นายของครูประเมิน 20-30% พอ และประเมินไม่ใช่แบบใช้ความรู้สึกนะ ต้องประเมินแบบObjective

ให้เด็กประเมินแล้วต้องดูคุณภาพของโรงเรียนหรือไม่
  ถ้าเด็กขี้เหล้าเมายา เรียนแย่ไม่ให้ประเมิน ต้องเด็กที่ได้คะแนนถึงระดับหนึ่งแล้วให้ประเมิน คือหลักการเอาคนดีประเมินคนดี ให้คะแนน 1 2 3 4 5 แล้วให้เอาขึ้นจอเลยจะได้ไม่ต้องมีการเถียงกัน เหมือนสอบ"โทเฟล"ที่ไม่ต้องเถียงเพราะว่าเป้าหมายคือนักเรียนเป็นลูกค้า นายไม่ได้เป็นลูกค้า คือถ้านายมีอำนาจเหนือกว่ามันก็เป็นระบบเดิมๆ ถ้าสมัยอยุธยาเขาเรียกว่าระบบศักดินา อันนี้ระบบลูกค้าประเมิน แต่พอลูกค้าประเมินนี่ก็จะบอกว่าประเมินได้ยังไงฉันเป็นครู ก็เดี๋ยวนี้เมืองนอกก็ทำแบบนี้ทั้งนั้นไม่มีการกลั่นแกล้งกัน


 การประเมินเป็นผู้อำนวยการ ผมก็ขอให้สอบแบบ ก. แบบเดียว ออกข้อสอบเป็นปรนัยข้อสอบบริหารทั้งนั้น โดยมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งเขาไม่มีทางที่จะไปคอรัปชั่นจากคนไปสมัครสอบ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แล้วก็เอาไปอ้างสอบ100% คุณได้คะแนนเท่าไรขึ้นคอมพิวเตอร์กดดูได้ แต่มีคนมาประชุมด้วยบอกว่าโอ๊ยไม่ได้ต้องแบบ ก. 50% แบบ ข. 50% ผมก็ถามว่าแบบ ข. คืออะไร ซึ่งแบบ ข.คือให้ระดับอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ซึ่งมี 200 กว่าแห่งเป็นคนไปประเมิน บางส่วนก็เลือกตั้ง บางส่วนผมก็รู้มาว่าตรงนี้ไปเรียกเงินทองเขา ถ้าเป็นอย่างนี้นานๆเราก็จะได้คนไม่ดีมาทำงานมามีอำนาจเหนือระบบ

 “เป้าหมายวันนี้คือจะตัดปัญหาเรื่องคอรัปชั่นอย่างเดียว แน่นอนครับถ้าระบบมันดีไม่ต้องสอบแบบ ก. ก็มานั่งคุยกับผู้บริหารผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มันก็ได้ครับ ถ้าระบบดีอย่างประเทศสิงคโปร์คุณไม่ต้องไปสอบแบบ ก. แบบ ข. หรอก แต่คุณนั่งคุยแบบ ลี กวน ยู นะ เขาประเมินคุณตรงๆ เขาไม่เรียกเงินคุณ”


 พอเป็นแบบนี้ เราก็อาจจะได้ครูที่ตอบข้อสอบเก่งแต่อาจจะบริหารไม่เก่ง อีกคนก็จะเถียงว่าเอาครูที่บริหารเก่งแต่ตอบข้อสอบไม่เก่ง ผมก็จะตอบคำนี้ ครูที่ได้คะแนนดีจะบริหารเก่งไม่เก่งไม่รู้มาเป็นผู้อำนวยการ ดีกว่าครูที่มาโดยวิธีไม่ดี ดีกว่าครูที่โกงมา จ่ายเงินเข้ามา ดังนั้นต้องขจัดคอรัปชั่นก่อน”

 ถ้าบริหารเก่งแต่ไม่โกง แต่ความรู้ไม่ค่อยดีจะทำยังไง
          เขาบริหารเก่งก็ต้องตอบข้อสอบผู้บริหารได้ เพราะข้อสอบถามเรื่องการบริหารแบบปรนัย เพราะตำรามาจากคนที่ไม่เคยบริหาร เพราะตำราทุกตำรามาจากประสบการณ์ของคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือมา เช่น ตำราบริหารเขาก็มาจากพ่อค้าแม่ค้านี่แหละที่สั่งสมขึ้นมา ปัจจุบันที่เราเรียนรู้ได้เร็ว ก็เพราะว่าเราเรียนจากตำราที่สั่งสม เดิมเราต้องไปเรียนกับฤาษีใช่หรือไม่

 ตอนนี้การศึกษาของไทยอยู่อันดับท้ายๆของโลกจะมีการปรับอะไร อย่างไร 
  นั่นเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่จะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากการควบคุม มาเป็นการให้โอกาส ก็คุณยังให้โอกาสลูกคุณตั้งเยอะแยะ แล้วทำไมไม่ให้โอกาสเด็กในประเทศไทย ถ้าคุณคิดว่าเป็นลูกหลานของคุณก็ให้โอกาส ถ้าคุณคิดว่าไม่ใช่คุณก็ไม่ให้โอกาส

 แล้วทำยังไงถึงจะทำให้พ้นจากอันดับท้ายๆ
        หนึ่ง ก็ "แท็บเล็ต" ที่มีแอคเซสทูอินเตอร์เน็ต ครูต้องไม่มีแรงกดถูกเรียกร้องเงินทอง สมมติครูยังเป็นหนี้อยู่ให้เข้าวัด พระจะสอนเรื่องการครองชีวิต สามี-ภรรยาทำไมมีรถคนละคัน หรือคันเดียวก็พอ รายได้สองคน 5 หมื่น ทำไมยังเป็นหนี้อีก รายจ่าย 8หมื่นมันก็ไม่ได้สิ ไปซื้ออะไรมาบ้างไหนทำบัญชี ถ้าเข้าวัด 7วันแล้วคุณคิดไม่เป็นคุณก็แย่แล้ว เพราะเป้าหมายของเด็กคือคิดเป็นทำเป็น แต่ไอ้คนสอนมันต้องคิดเป็นก่อน คนสอนยังต้องไปกู้แขกมาก็ต้องพิจารณาตัวเองแล้วนะ ครูต้องคิดเป็นทำเป็น

 แล้วตอนนี้ครูของเราคิดเป็นหรือยัง 
        นี่ยังไงหละถ้าคิดไม่เป็นถึงต้องเข้าวัด แต่ส่วนใหญ่เขาคิดเป็นนะ แต่ทั้งนี้เราจะหาทางเพิ่มโอกาสขยายรายได้ให้ครู และที่บอกว่าครูสอนภาษาไม่ดี ก็จะเอาครูสอนภาษา Native speaker เข้ามาสอนภาษาอังกฤษ อันนี้สั่งมาแล้ว ก็ให้เขาไปหามาต้องหามาเป็นหมื่นคน ก็มีคนบอกว่าครูที่อินเดียมีเยอะแยะ โดยเป้าหมายของ Native speaker จะไปอยู่ทุกที่ แต่ในเมืองคงไม่จำเป็น นี่จึงเป็นปัญหาว่าคุณภาพอยู่ในเมือง คนชนบทโรงเรียนไม่มีคุณภาพ ส่วนภาษาจีนก็จะมีความร่วมมือจากสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ครูมาจากประเทศจีน 5,000 คน ปลายเดือนนี้มาสอนตามโรงเรียนต่างๆ จากโรงเรียนมีทั้งหมด 3 หมื่นแห่ง โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มเปิดเทอมนี้


 ส่วนโรงเรียนที่ห่างไกลมีนักเรียน 9คน มีครูอยู่คนเดียวคุณก็ย้ายเข้ามา หรือถ้าคุณอยากให้ลูกไม่มีอนาคตอยู่ตรงนั้นก็เรื่องของคุณ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานว่าพ่อแม่จะตัดสินใจว่าจะให้ลูกทำอะไร ลูกเล็กๆรับผิดชอบโดยพ่อแม่ สรุปก็คือมีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำว่า 10 คน มีสองพันกว่าแห่ง ผมก็ให้เขาไปคุยกันก่อนว่าจะทำยังไง แต่อย่าใช้คำว่ายุบโรงเรียน อย่าเขียนอะไรที่เป็น Negative ด้านการศึกษา เพราะคุณจะหาคนที่ตั้งใจเข้ามาทำการศึกษาในกระทรวงศึกษาอีกได้ยาก ซึ่งนโยบายของเราคือให้ยุบหรือไม่ให้ยุบ มีเงินเยอะแยะไปยกขยายก็ได้ ทำไมจะขยายไม่ได้
 “แต่นโยบาย คือ ให้เด็กของเราได้เรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนดีขึ้น ได้เรียนกับครูวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ดีขึ้น ก็ต้องมีแท็บเล็ต มีเทคโนโลยีและต้องมีครูที่ไม่เป็นหนี้ มีครูที่ไม่ถูกกดขี่ข่มเหง ในรอบ6เดือนนี้ผมจะทำเรื่องครูสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ทำแท็บเล็ต เรื่องอื่นไว้ทีหลัง”
 
แล้วจะทำยังไงถึงจะทำให้ครูมีความรู้มากขึ้น เพราะดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้ครู ทำให้ครูต้องขวนขวายเอง
  ก็มีเงินเดือนให้ มีการอบรมแจกประกาศนียบัตร และมีสถาบันที่เป็นกลางให้เขาไปสอบได้เรื่อยๆที่ให้กระทรวงศึกษาเขาไปคิด ทำไมต้องอุ้มตลอดเวลาไม่ต้อง เรื่องความรู้ก็ต้องขวนขวายเองนะ ผมไปเรียนปริญญาเอกผมก็ไปด้วยตัวผมเอง ผมหาทุนของผมเองนะ มันจะมีประเทศไหนส่งทุกคนไปเรียนแล้วกลับมาอุ้มมาเรียน ทุกคนไขว่คว้าหาอนาคตหาโอกาส แล้วคุณก็ได้รับผลตอบแทนจากงานที่คุณทำ ถ้าคุณทำงานต่ำอยากมีโอกาสเยอะคุณก็สะสมสิแล้วก็ไปเรียน ถ้าคุณเก่งมากๆก็จะมีทุนให้ ถ้าให้ทุนทุกคน มันก็ไม่มีการแข่งขัน
     
 ในการที่จะพัฒนาครูได้อิงมาจากงานวิจัยอะไรหรือไม่ว่า ต้องพัฒนาอย่างไร
 
       วิจัยอะไรไม่ต้องวิจัยหรอก ผมนี่แหละเป็นศาสตราจารย์นะ(ยิ้ม) ไม่ต้องวิจัยมันกองเต็มห้องไปหมดแล้ว มากระทรวงศึกษาก็โอ้โห มีเป็นตั้งเลย ผมอยากเห็นนโยบายแบบนี้ไปบริหารจัดการ กำลังคนก็ดี กฎระเบียบก็ดี เงินก็ดีให้มันได้
 
 มีมาตรการป้องกันโรงเรียนใหญ่รับแป๊ะเจี๊ยะยังไง
  แป๊ะก็เรียกมาเจี๊ยะ มันก็เป็นประโยคที่แปลว่าคอรัปชั่น ถ้าอาซิ่มเจี๊ยะก็คอรัปชั่น ผมอยากให้แยกระหว่างการนำเงินเข้ากระเป๋ากับเอาเงินเพื่อส่วนรวม ผมอยากให้ดูตรงนี้ ถ้ามีผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเขารับเงินเดือนของเขาอยู่แล้ว นอนอยู่บ้านแล้วไม่ต้องมาทำอะไรเขาก็รับเงินเดือนเขาอยู่ มาคิดโครงการทำอะไรก็กลายเป็นว่ากระทรวงศึกษาฯให้ไปขอเพื่อเอาเงินเข้าส่วนรวม ขอเถอะอย่าเรียกว่าแป๊ะเจี๊ยะเลย เรียกว่าเป็น"เงินบริจาคมหากุศล"ได้ไหม
 
 มันจะต่างอะไรจากแป๊ะเจี๊ยะ 
  คุณก็ดูที่เจตนาสิ ถ้าคนนี้เขาเรียกเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองแล้วเด็กเข้าโรงเรียนอย่างนี้เรียกว่าคอรัปชั่น แต่เจตนาเขาอยากทำให้โรงเรียนของเขา ลูกหลานของเขาดี เขาก็เรียกการบริจาคจากโต๊ะจีน ผมก็ส่งเสริม

 แล้วมีมาตรการอย่างไรกับคนที่คอรัปชั่น 
      ให้ ดร.ประแสง มงคลศิริ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาฯ ไปดู ซึ่งมีคนให้ก็มีคนรับก็เป็นเรื่องทางกฎหมายก็ต้องส่งข้อมูลทางกฎหมายไปให้เขาไว้ แล้วก็ส่งมาตนจะดำเนินการตามกฎหมาย แต่มาตรการที่สำคัญทางด้านผมคือมาตรการป้องปรามที่ผมประกาศเองในการประชุมผู้บริหารทุกที่ก็เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเลยไหม ก่อนนี้สอบเป็นผู้อำนวยการที่มีโอกาสคอรัปชั่นสูง บางทีมีการให้สินบนผู้พิจารณาแล้วตัวเองได้2ขั้นมันก็เป็นฐานคูณขึ้นไปเรื่อยๆ เราจึงประกาศก่อนถ้าใครแหลมใครแสดงอะไรออกมาแล้วมีหลักฐานนะจะจัดการให้เป็นตัวอย่าง

ตกลงเรื่องแป๊ะเจี๊ยะโรงเรียนทำได้หรือทำไม่ได้
  ถ้าเป็นบริจาคทำได้ แต่แป๊ะเจี๊ยะแปลว่าคอรัปชั่นทำไม่ได้ แต่คำว่าแป๊ะเจี๊ยะหมายถึงอะไร ผมไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร แต่ทั้งนี้เด็กๆเข้าโรงเรียนได้หมดแล้ว ปัจจุบันเห็นในข่าวเขาบอกว่าเขามีจำนวนนักเรียนอยู่แล้ว สมมติโรงเรียนนี้เขารับได้ 100 คน จ่ายเพื่อเข้าไปทำงานไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีลูกคหบดีมาให้ 2,000 ล้านบาทให้โรงเรียนนี้ เขาจะจัดห้องพิเศษในกลุ่มนี้ให้เรียนให้เป็นส่วนบวกเข้าไป


 “ก็โอเคนะ เป็นผม ผมก็เอานะห้องพิเศษนะ คือมันมีสัดส่วนแน่นอนไม่ไปเบียดบัง คนยากคนจนเขาก็ไม่มีตังค์ ไอ้คนนี้เอา 2,000 ล้านมา เขาก็จะได้เอาไปจ่ายเด็กๆที่ยากจนเรียน ในประวัติศาสตร์เขาก็ทำ แต่เขาจัดห้องพิเศษ โรงเรียนได้ประโยคเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งนะ ในอดีตคุณทราบไหมเขาจัดการศึกษายังไง สมัย"เฮอร์คิวลิส"เคยเห็นไหมเขาจัดการศึกษายังไง เขาเอาเงินมารวมกันนะ ไม่อย่างนั้นแต่ละคนก็เอาเงินไปจ้างเด็กหนึ่งคนมาสอนที่บ้าน จะไปสอนที่อื่นก็ไม่ได้ ใครให้มากกว่าถึงจะไป และคนรวยที่เห็นลูกข้างบ้านที่ยากจนมาเรียนหนังสือด้วยก็ไม่มาปล้น ก็รวมเงินกันไปจ้าง"เฮอร์คิวลิส"มาสอน”

แล้วมันจะไปเบียดบังพื้นที่ของนักเรียนคนอื่นไหม
         ไม่เบียดครับเพราะว่ามันเซ็ทไว้เรียบร้อยแล้ว แต่คำว่าแป๊ะเจี๊ยะผมไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร ขอตัดคำว่าแป๊ะเจี๊ยะออกได้ไหมถ้าผมเจอผมจะโทรไปต่อว่าเลยนะ คือถ้าเขาให้เงินมาเพื่อบริจาคมหากุศลแล้วมันมีปัญหาอะไร อย่างนายกอร์ดอน วู บริจาคให้พรินซตัน 100 ล้าน พรินซตันก็จะจัดเลย ลูกคุณกี่คนมาเรียนตรงนี้ก็ได้และมีแชร์มีตำแหน่งมีเก้าอี้ให้

 ที่พูดมาทั้งหมด อิงกับแผนปฏิรูปการศึกษาไหม 
     แผนปฏิรูปการศึกษาเขียนไว้กว้างๆ อันนี้เป็นรูปธรรมที่แท้จริง นโยบายเราคือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เราดูแลลูกหลานของเรา ดูแลลูกหลานของประชาชนเหมือนลูกของผมเอง รัฐบาลอื่นๆบางทีดูแลลูกหลานของประชาชนเหมือนลูกคนใช้ พยายามจะโกงเงินเด็ก

 ปรัชญาอะไรที่จะทำให้เด็กคิดได้เอง
   ก็ต้องไม่ครอบงำเขา ไม่ใช่สั่งอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ให้ทำ อันนั้นห้ามทำ คุณต้องให้เขาคิดภายใต้กรอบเสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรม

   มองนโยบายการศึกษาของพรรคเพื่อไทยในระยะยาว 4 ปีจะเป็นยังไง ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทย ที่ยังขอดูแลกระทรวงศึกษาธิการเหมือนเดิม
      ก็เรารับเลือกตั้งมา เราไปประกาศต่อพี่น้องประชาชนว่าเราจะดูแลพี่น้องประชาชน แล้วเราจะให้คนอื่นทำทำไม

ได้ให้ไกด์ไลน์ระยะยาวของลูกหลานใน 4-5 ปีข้างหน้ายังไง
      เรื่องของเขามันเรื่องของเราที่ไหน ลูกหลานเราต้องดีกว่าเราอยู่แล้ว ต้องให้มีจินตนาการ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ให้มีอิสรภาพที่มีขอบเขตที่ไม่ผิดกฎหมายแล้วประเทศจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าไปครอบงำอันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ได้ คอมพิวเตอร์ยืมก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ อ่านหนังสือยืมเรียนห้ามขีด ลูกคุณคุณทำแบบนั้นหรือเปล่า ไม่มีใครทำกับลูกแบบนั้นหรอก

แล้วโครงการที่จะใช้สมาร์ทการ์ดในโครงการเรียนฟรี
     สมาร์ทการ์ดเอาไว้ทีหลังผมยังคิดว่ามันยังไม่จำเป็น มันมีเครื่องมืออื่น อย่าไปคิดเป็นเรื่องๆ ถ้าคิดเป็นไอเท่มก็จะเห็นเป้าหมาย

  ปัญหาของการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน 
 อยู่ที่วิธีคิด ของผู้ใหญ่ที่ดูแลการศึกษาที่มันไม่ไปเพราะคิดควบคุม และตัวผู้ใหญ่เองที่กำหนดกรอบเหล่านั้นตัวของเขาเองก็ทำไม่ได้ แต่เขาไปสั่งให้เด็กทำ ผมอยากเปิดกรอบนี้ให้โอกาส เปลี่ยนจากควบคุมเป็นให้โอกาส ให้มีอิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม

เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
  ใครอยากออกนอกระบอบออกไปเลยนะ ใครอยากอยู่ก็อยู่ ถามว่าทำไม เราก็ดูแลมหาวิทยาลัยเหมือนคนในครอบครัว ลูกคนนึงโตแล้วอยากอยู่กับแม่ก็อยู่กับแม่ อีกคนนึงอยากออกไปอยากสร้างบ้านอยู่ ไม่ได้โกรธแม่ รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตอยากจะออกนอกระบบ ถ้ามหาวิทยาลัยไหนอยากออกนอกอระบบก็ยินดีจะเสนอพระราชบัญญัติให้ 
 แต่มหาวิทยาลัยในภาคใต้เขาบอกว่าอยากอยู่ในระบบ แล้วอยากให้เป็นพนักงานราชการในมหาวิทยาลัย อยากให้เป็นข้าราชการเพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ตรงนั้นผมกำลังจะคิด และเป็นไปได้เพราะว่าเดี๋ยวนี้อาจารย์สอนมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นข้าราชการแทบหมดแล้ว แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดี๋ยวจะคิด

  เป็นรัฐมนตรีศึกษาฯ แต่ถูกมองว่ามีภาพของคนเสื้อแดงติดตัวเพราะตระเวนไปตาม"หมู่บ้านเสื้อแดง"จนเป็นสัญลักษณ์ติดตัวไปแล้ว
      ฝ่ายค้านไม่เข้าใจว่าคนเสื้อแดงคืออะไร เขามองว่าคนเสื้อแดงเป็น"คอมมิวนิสต์" แต่จากการที่ผมได้ลงไปสัมผัส พบว่า"คนเสื้อแดง"มีเกือบครึ่งของประเทศ และเป็นคนที่ทนต่อความอยุติธรรมไม่ได้ คนเสื้อแดงแค่เรียกร้องความเป็นธรรม และไม่ใช่การออกมาเรียกร้องเรื่องความเป็นอยู่ของเขาด้วยซ้ำ 
 สำหรับกรณีที่ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นประธานเปิด"หมู่บ้านคนเสื้อแดง"ในหลายจังหวัดนั้น ก็เพียงแต่ไปให้กำลังใจว่าพวกเขาจะต้องมีความเป็นอยู่ มีกิน มีฐานะ และมีการศึกษาที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันเท่านั้น


 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมได้รับมาจากการลงไปพบกับคนยากคนจน เหล่านี้ก็คือ ความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้กับเขาเหล่านั้นให้มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ผมต้องการชี้ทิศทางให้กับเขาเหล่านั้นเพื่อให้เขามีทิศทางมากขึ้น เพราะวันนี้เขายังรอคอยความหวังว่าเขาควรจะเดินไปทางไหน ซึ่งจากการที่ผมได้ลงไปพบกับเขานั้นพวกเขาหวังที่จะพึ่งผม เอาหนังสือร้องเรียนมายื่นให้กับผมเพื่อขอความเป็นธรรมก็เยอะ ซึ่งตนก็ได้แต่บอกไปว่าการปกครองให้ประเทศเจริญนั้น ประชาชนต้องเข้มแข็ง


  " ผมยังบอกแกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงด้วยว่า แกนนำทุกคนนั้นแต่เดิมดูแลเฉพาะครอบครัวของตัวเอง แต่วันนี้จะต้องคิดว่าเมื่อมาเป็นหัวหน้าครอบครัวของพวกเขาเหล่านี้แล้วจะต้องห้ามโกงเขา สำหรับผมนั้นก็เป็นแค่ตัวแทนของประชาชนเท่านั้น ไม่มีอะไรจะให้ แต่จะทำงานให้เร็วที่สุดและทำให้ดีที่สุด"


     รัฐมนตรีว่าการ เป็นเสื้อแดง ที่ปรึกษาก็เป็นเสื้อแดง จะมีผลต่อการศึกษาไทยหรือไม่ และจะนำหลักสูตรโรงเรียน นปช. มาใช้ในการเรียนการสอนหรือไม่
   หลักสูตรของโรงเรียน นปช.ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มีก็แต่นโยบายที่ผมเป็นคนคิดซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เท่านั้น ทั้งนี้จะให้เวลาประเทศ 4 ปี ถ้าประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผมก็จะวางอุเบกขา เพราะทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไปอยู่แบบเงียบๆ ของผมก็ได้

ที่มา :  bangkokbiznews.com

 



01366 โดย ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2012-03-03 09:52:46 v : 2058



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา