มุมที่แตกต่างของโรคพาร์กินสัน


มุมที่แตกต่างของโรคพาร์กินสัน
รศ.นพ.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาท

           ...คุณปู่ไสว อายุ 71 ปี มีอาการสั่นที่มือขวา เดินไม่สะดวก เคลื่อนไหวช้าลง จึงไปพบแพทย์และได้ยารักษา หลังจากนั้นจึงมีอาการดีขึ้นมาก มีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และออกกำลังกายด้วยการเดินได้ทุกเช้า หลังรักษาได้ 5 ปี คุณปู่เริ่มรู้สึกว่ายาออกฤทธิ์ได้น้อยลง คุณหมอจึงต้องเพิ่มขนาดยาและให้ยาหลายขนานเพื่อควบคุมอาการ ช่วงปีที่ผ่านมา ญาติสังเกตว่าคุณปู่พูดน้อยลง แยกตัวจากสมาชิกในบ้าน บางครั้งร้องไห้คนเดียว วิตกกังวลกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน บางครั้งบ่นเวียนศีรษะ หน้ามืดเวลาลุกขึ้นจากเตียง ท้องผูก ช่วงนี้รู้สึกว่าความจำไม่ดี หลงลืมง่าย ฝันร้ายบ่อย กลางคืนมีอาการเพ้อ เห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้ลูกหลานเป็นกังวลมาก จึงมาปรึกษาแพทย์เรื่องพฤติกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้...
          เดือนเมษายนนี้มีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ได้แก่ วันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันพาร์กินสันโลก HealthToday ฉบับนี้ จึงนำเสนอเรื่องโรคพาร์กินสันในแง่มุมที่แตกต่างจากที่คุณๆ เคยทราบกันมาก่อน หลายท่านคงคุ้นเคยกับโรคพาร์กินสันมาก่อน โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุราว 1% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีการประมาณการกันว่าจะมีจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในประเทศที่มีประชากรสูงสุด 9 อันดับแรกของโลกและในยุโรปอีก 5 ประเทศ รวมกันถึง 9 ล้านคน ในปีค.ศ.2030 อย่างไรก็ตามคนในช่วงอายุ 30-40 ปี ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วย ก็อาจพบว่ามีอาการของพาร์กินสันได้เช่นกันแต่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อย
โรคพาร์กินสันนี้เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง โดยเฉพาะส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน การขาดสารสื่อประสาทนี้ ทำให้เกิดอาการสำคัญที่รู้จักทั่วไป คือ มีอาการสั่นโดยเฉพาะที่แขน-มือ ข้างใดข้างหนึ่งก่อน หรือทั้งสองข้างโดยข้างหนึ่งจะมีอาการมากกว่า นอกจากนั้นยังมีอาการตัวแข็ง กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวเชื่องช้า หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการเสียสมดุลการทรงตัว หกล้มง่าย หรือทรงตัวไม่อยู่ อาการข้างต้นนี้อยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว แต่กระนั้นก็ยังตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยา
          แม้ว่าคนทั่วไปจะคุ้นเคยว่าอาการสั่นนั้นเป็นสัญลักษณ์ของโรคพาร์กินสันแต่ในความจริงแล้วโรคพาร์กินสันยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว มีงานวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เน้นที่กลุ่มอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งได้ข้อมูลว่าในช่วงระยะหลังของคนที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการที่น่าสนใจมากมายที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าปัญหาการเคลื่อนไหวเสียอีก อาการที่พบบ่อย ได้แก่
อาการทางจิตประสาท (ซึมเศร้า วิตกกังวล สมองเสื่อม) อาการนอนหลับผิดปกติ (ง่วงเวลากลางวัน นอนไม่หลับเวลากลางคืน ประสาทหลอน) และอาการระบบประสาทเสรีที่ควบคุมอวัยวะภายใน (ท้องผูก ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า เวียนศีรษะ)
          
อย่างไรก็ตามด้วยวิทยาการทางการแพทย์ก็ยังมีวิธีและแนวทางการรักษาได้ครับ ผมขอยกตัวอย่างอาการที่สำคัญและรักษาได้ผลดี เช่น
ภาวะซึมเศร้า
          พบได้บ่อยมากในผู้ที่ป่วยเป็นพาร์กินสันแต่มักไม่ได้รับการวินิจฉัย ญาติและแพทย์มักคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่มักจะมีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้าหรือนอนไม่หลับ หากอาการเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอุปนิสัยเดิมของผู้ป่วย และมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว ควรต้องสงสัยภาวะนี้ด้วย ซึ่งสำหรับแพทย์แล้วการวินิจฉัยนี้ทำได้ไม่ยากนัก ทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกายหรือใช้แบบสอบถามมาตรฐานช่วย ข้อมูลจากการวิจัยของผมที่ทำในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเกิดภาวะนี้ขึ้น 5.1% ในเวลา 1 ปี ซึ่งจะต่ำกว่ารายงานจากประเทศอื่นๆ และต่ำกว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
          ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษานั้นมีไม่มากนัก โดยทั่วไปผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเมื่อเป็นพาร์กินสันส่วนใหญ่จะตอบสนองได้ดีเมื่อได้รับยาต้านเศร้าทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่      ข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ พบว่ายาต้านเศร้ารุ่นเก่าบางชนิดมีผลดีกว่ายารุ่นใหม่ทั้งด้านอารมณ์ กิจวัตรประจำวันและการนอนหลับ
การที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ผมอยากให้ตระหนักว่าญาติและครอบครัวก็มีส่วนช่วยได้มากเช่นกันครับ คือควรจะพูดคุยกับผู้ป่วยให้มากขึ้น สอบถามถึงอาการ ให้ความช่วยเหลือต่างๆ และสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นพาร์กินสันที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยนั้นสามารถใช้ชีวิตตามปกติให้ได้มากที่สุด ไม่ควรแสดงอารมณ์ใส่หรือสร้างความขัดแย้งกับผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัว ควรมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว เช่น ปลูกต้นไม้ ทำสวน ทำอาหาร พาไปรับประทานอาหารนอกบ้านด้วยกัน
ภาวะสมองเสื่อม
          สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นพาร์กินสันก็เกิดอาการสมองเสื่อมได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ จากข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราช พบคนไทยที่เป็นพาร์กินสันมีภาวะสมองเสื่อมประมาณ 26% ส่วนข้อมูลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พบเกือบ 50% ซึ่งภาวะสมองเสื่อมนี้มักพบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันมาแล้วหลายปีหรือในช่วงระยะท้ายๆ ของโรค โดยมีอาการสมองเสื่อมตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง เช่น มีอาการสับสน หลงลืม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถดูแลตนเองได้ตามปกติ ประสาทหลอน โดยเฉพาะเห็นภาพหลอนเวลากลางคืน นับว่ายังโชคดีที่มีการวิจัยพบว่ายาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ( Alzheimer’s disease) สามารถรักษาภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคพาร์กินสัน ( Parkinson disease’s dementia) นี้ได้ โดยได้ผลดีกว่าในการรักษาโรคอัลไซเมอร์เล็กน้อย หากผู้ป่วยนั้นไม่สามารถรับประทานยาเม็ดได้ ก็ยังมียาในรูปแผ่นแปะผิวหนังที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างกันและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ไม่ควรใช้ยาต้านโรคจิตเพื่อระงับอาการเพ้อหรือประสาทหลอน เพราะจะทำให้อาการเคลื่อนไหวแย่ลงได้
          เนื่องจากอาการสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่เลือกไม่ได้ ญาติจึงควรยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ควรเบื่อหน่ายกับการตอบคำถามซ้ำๆ แต่คุณอาจแนะนำให้ผู้ป่วยบันทึกสิ่งต่างๆ ใส่สมุด กระดาน หรือไวท์บอร์ด เพื่อช่วยเตือนความจำ พยายามหันเหความสนใจของผู้ป่วยเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน หรือเมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ต้องการตักบาตรกลางดึกเพราะรู้สึกตัวตื่นตอนนั้นและเข้าใจว่าเป็นตอนเช้า ญาติควรค่อยๆ อธิบายว่าเวลาที่จริงเป็นอย่างไร หรือเลื่อนเวลาออกไป หรือหันเหให้ไปทำกิจกรรมอื่นก่อน ควรระมัดระวังอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในบ้าน ไม่ควรให้ผู้ป่วยขับรถไปไหนเอง หรือใช้อุปกรณ์ที่อาจเกิดอันตรายได้ง่าย เช่น เตาแก๊ส เป็นต้น
การนอนหลับผิดปกต
          ผู้ที่ป่วยเป็นพาร์กินสันที่ได้รับยารักษาพาร์กินสันบางชนิด จะมีอาการง่วงในเวลากลางวัน หรือมีอาการหลับกะทันหัน ซึ่งเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะขณะขับรถ แม้อาการนี้เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักและมักเกิดขึ้นในช่วงที่เริ่มยาหรือปรับยา ดังนั้นแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีอาการประสาทหลอน มักเกี่ยวข้องกับอาการสมองเสื่อมหรือผลข้างเคียงจากยา ซึ่งต้องปรับขนาดและชนิดยาให้เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว
          พบได้ 25% ของผู้ป่วยพาร์กินสันทั้งหมดจากข้อมูลงานวิจัยของผมที่รวบรวมจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยอาการยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนดพบบ่อยที่สุด รองลงมาคือ อาการเคลื่อนไหวที่ไม่สม่ำเสมอมากหรือน้อยเกินไปตามระดับยาที่ขึ้นๆ ลงๆ หากรุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่สะดวกหรือหยุดการเคลื่อนไหวโดยไม่ตั้งใจ หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น
นอกจากนั้นยังมีอาการอื่นๆ จากระบบประสาทเสรีที่ควบคุมอวัยวะภายใน เช่น ท้องผูก ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ซึ่งอาจใช้ยาบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว คนที่เป็นพาร์กินสันจึงควรดื่มน้ำมากขึ้น ควรรับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกากใยในการขับถ่าย ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังป้องกันการยึดติดของข้อและช่วยฝึกการทรงตัว เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเพื่อพักผ่อนได้เต็มที่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรือมีโปรตีนสูงพร้อมกับการรับประทานยาเนื่องจากจะรบกวนกับการดูดซึมของยาได้

          ถึงแม้ว่าโรคพาร์กินสันจะมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายแบบในระยะยาว แต่อาการที่เกิดขึ้นสามารถบรรเทาได้ด้วยการรักษาในปัจจุบัน ผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ยืนยาวใกล้เคียงกับคนปกติ ดังนั้นทั้งแพทย์ ตัวผู้ป่วยเองและญาติ จึงควรให้ความสำคัญกับอาการทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

ที่มา:http://www.healthtoday.net/thailand/disease/disease_972.html



00117 โดย ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ 2009-05-11 20:17:25 v : 2814



ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ

 

เว็บทางการศึกษา
ตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ข่าว The Nation
ข่าว CNN
ข่าว BangkokPost


มูลนิธิทางไกrลผ่านดาวเทียม
บริการการเรียนการสอนทางไกล ผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนไกลกังวล หัวหิน
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย ครอบคลุมการศึกษาทุกระบบ
GURU Online
พัฒนาครูไทย มาตรฐานเท่าเทียม เรียนได้ทุกที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ก้าวย่างอย่างเข้าใจ
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสถานศึกษา
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ส่งเสริมให้ข้าราชการออมเงินไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณอาย
KARN.TV
รวมความรู้ แบบฝึกหัด กิจกรรมเพิ่มทักษะ สำหรับอนุบาล - ประถมต้น
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อบริการประชาชน
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียนและการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
ห้องสมุด มสธ.
IGCSE ติว IELTS
TOEIC ติว GED
IELTS ติว TOEIC
TDC : Thai Digital Collection
สืบค้นงานวิจัย ฉบับเต็ม



 

เรียนพิเศษโคราช

พัฒนาระบบโดย
ธีรวัฒน์ ภู่เจริญ

จดโดเมน Host ออกแบบเว็บไซต์ Web Design

ครูอินเตอร์.คอม ดร.ศักดิ์ชัย ภู่เจริญ ภาวะผู้นำ บริหารการศึกษา